คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4198/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยระบุข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ การที่จำเลยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้าง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
โจทก์จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจึงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัดฯ มาตรา 185 มิใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 จึงไม่ต้องทำหลักฐานการโอนหนี้เป็นหนังสือ แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคาร ท. กับโจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาโดยมีการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างโจทก์และจำเลยหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ตามคำฟ้องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดมิใช่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลกิจการผู้อื่นหรือรับทำงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ออกทดรองไป เมื่อกฎหมายในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท เท่านั้น มิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไป เป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ โดยเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันในนาม “รามาคอลเลคชั่น” ไว้แก่โจทก์ มีข้อตกลงว่าจำเลยจะสั่งจ่ายเงินในบัญชีเดินสะพัดด้วยการใช้เช็คหรือเอกสารอื่นของโจทก์เป็นหลักฐานแห่งการเบิกเงินและตัดทอนบัญชีเดินสะพัดต่อกันหากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย แต่โจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อน จำเลยยอมผูกพันตามยอดเงินที่โจทก์จ่ายไป และยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นในยอดเงินดังกล่าวแก่โจทก์ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดจากผู้กู้ยืมได้ ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,612,952.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,891,172.85 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,109,308.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,801,066.67 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้หักเงินจำนวน 340,061.75 บาท

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยระบุข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 20/96 ถนนสุขุมวิท ซอยพร้อมมิตรแขวงคลองตันเหนือ เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ การที่จำเลยกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดขอนแก่นเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้าง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สองมีว่า นายโอฬาร ไชยประวัติ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และนายโอฬารได้มอบอำนาจให้นายอนุรักษ์ สุรพัฒน์ ฟ้องคดีหรือไม่ โจทก์มีหนังสือรับรองของกรมทะเบียนการค้ากระทรวงพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานว่านายโอฬารเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และมีหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2เป็นพยานหลักฐานว่านายโอฬารลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายอนุรักษ์ฟ้องคดี กับมีนายอนุรักษ์ สุรพัฒน์ เป็นพยานเบิกความรับรองว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจคือลายมือชื่อของนายโอฬารซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธแต่ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายโอฬารเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้และนายโอฬารมอบอำนาจให้นายอนุรักษ์ฟ้องคดีนี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยโดยไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กับโจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจึงได้ไปซึ่งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดโดยผลของกฎหมายตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 185 มิใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 จึงไม่ต้องทำหลักฐานการโอนหนี้เป็นหนังสือดังที่จำเลยฎีกา แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการโอนหนี้ระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด กับโจทก์ และไม่ได้บอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือให้จำเลยทราบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการที่สี่มีว่า หลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมหรือไม่ และบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดอันจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2534 จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 040-3-02005-7 ชื่อบัญชี “รามาคอลเลคชั่น” ที่ธนาคารโจทก์สาขาซอยไชยยศ เพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ต่อมาวันที่ 7พฤศจิกายน 2534 จำเลยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตตามเอกสารหมาย จ.6 ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2536 จำเลยนำหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ เป็นเงิน1,223,000 บาท ส่งมอบต่อโจทก์เพื่อขอรับเงินสดจากโจทก์ โจทก์นำเงินเข้าบัญชีจำเลยแล้วแต่เรียกเก็บเงินจากผู้ออกบัตรเครดิตไม่ได้ โดยบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตปฏิเสธว่าหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปดังกล่าวเป็นหลักฐานอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอมตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งโจทก์มีนายสุวิทย์ หมื่นเดช เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการบัตรเครดิต มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมและป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับบัตรเครดิตเป็นพยานเบิกความว่า ตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปตัวอักษรซีวีมีขนาดใหญ่กว่า และมีลักษณะผิดจากตัวอักษรในบัตรมาตรฐาน จำเลยไม่นำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับนั้น เกิดจากการใช้บัตรเครดิตปลอม ประกอบกับตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตกำหนดให้เป็นหน้าที่ของร้านค้าต้องตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือบัตร เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขที่หนังสือเดินทางและประเทศที่ออกหนังสือเดินทางด้วย แต่จำเลยมิได้กระทำการดังกล่าว ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ว่าการขายสินค้าของจำเลยเป็นการปฏิบัติไปตามปกติที่เคยกระทำมา และไม่ใช่ความผิดของจำเลยจึงรับฟังไม่ได้ ส่วนข้อที่ว่าความรับผิดของจำเลยเป็นความรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยเป็นลูกค้าของโจทก์ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด ชื่อบัญชี รามาคอลเลคชั่น บัญชีเลขที่ 040-3-02005-7 ต่อมาจำเลยทำความตกลงกับโจทก์เพื่อเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิต ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการเป็นร้านค้าสมาชิกรับบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.6 ข้อ 7 ตกลงให้ใช้บัญชีเดินสะพัดชื่อบัญชี รามาคอลเลคชั่น บัญชีเลขที่ 040-3-02005-7 ของจำเลยเป็นบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยในการเรียกเก็บเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปด้วยตามข้อตกลงข้อที่ 8 ถึงข้อที่ 10 กำหนดให้ใช้บัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเดินสะพัด โดยยินยอมให้โจทก์หักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยหักกลบลบหนี้กันได้ ตามวิธีและประเพณีปฏิบัติของธนาคารเกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดหากจำเลยต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่เงินในบัญชีไม่มีให้หักหรือมีแต่ไม่พอให้หักชำระหนี้ได้ครบจำนวน จำเลยยินยอมให้โจทก์นำหนี้ทั้งจำนวนนั้น หรือจำนวนที่คงเหลือหลังจากหักชำระแล้วนั้น ลงจ่ายในบัญชีเพื่อให้เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยยินยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นของจำนวนเงินที่เป็นหนี้ตามประเพณีการคิดดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดของธนาคารด้วย นับแต่วันที่เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นต้นไป หลังจากมีข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จำเลยได้ส่งหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปจำนวน 35 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.8 มาเรียกเก็บเงินจากโจทก์ โจทก์คิดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บแล้วได้เอาเงินเข้าบัญชีของจำเลยตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.12 เมื่อพิจารณาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.12 ประกอบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า หลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดหรือเซลสลิปทั้งหมดเป็นรายการขายสินค้าระหว่างวันที่ 19 ถึงวันที่ 25 เมษายน 2536 ซึ่งโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ปรากฏยอดเงินคงเหลือในบัญชี ณ วันดังกล่าวว่า จำเลยเป็นเจ้าหนี้ ในระหว่างนี้จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจำนวน 29 ฉบับตามเอกสารหมาย จ.7 ถอนเงินออกจากบัญชี ทำให้ปรากฏยอดเงินคงเหลือในบัญชีว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ ดังนี้เห็นได้ว่า ข้อตกลงและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวเป็นการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดของคู่สัญญาโดยมีการตัดทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างโจทก์และจำเลยหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค อันเป็นลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในหนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจดูแลกิจการผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ ฟ้องเรียกเอาเงินที่ออกทดรองไป เมื่อกฎหมายในเรื่องบัญชีเดินสะพัดมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์นำเงินเข้าบัญชีของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2536 และนำยอดเงินตามหลักฐานการใช้บัตรเครดิตแทนการชำระเงินสดที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้มาหักจากบัญชีเดินสะพัดของจำเลยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536 เมื่อหักทอนบัญชีกันในวันที่ 30พฤศจิกายน 2536 ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,801,066.67 บาท ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญากับจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายใน 15วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2538 อายุความตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเริ่มนับแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์2538 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ยังไม่พ้นกำหนดสิบปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,801,066.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้หักเงินจำนวน 340,061.75 บาท ออก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท เท่านั้น มิได้กล่าวด้วยว่านอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่สั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นอันเพิกถอนไปเป็นการสั่งเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ถูกต้อง เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาและศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูกต้อง”

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์

Share