คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 419/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลที่จำเลยสมยอมกันทำขึ้นเพื่อการฉ้อฉลให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 เสียเปรียบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๑๒,๐๐๐ บาท นำตราจองเลขที่ ๑๒๒ ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยทั้ง ๓ สมคบกันหาทางจะไม่ชำระหนี้โจทก์ กล่าวคือ จำเลยที่ ๒ – ๓ ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ต่อศาล อ้างว่าที่ดินตราจองดังกล่าวบิดามารดายกให้จำเลยที่ ๒ – ๓ ก่อนตาย ส่วนจำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิรับมรดกและรับมรดกไปไม่ชอบ ซึ่งจำเลยที่ ๑ สู้คดีว่า บิดามารดายกที่ดินให้จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียว ครั้นวันชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ ได้ยอมยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ ๒ – ๓ โดยขอรับเงินไปเพียง ๘๐๐ บาท ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งเลขแดงที่ ๑๑๕/๒๕๐๒ เป็นการส่อเจตนาให้เห็นว่าจงใจฉ้อโกงโจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบในหลักทรัพย์ประกัน ฉะนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๕/๒๕๐๒ แม้จะได้กระทำต่อหน้าศาลก็เป็นการทุจริต อาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ จึงขอให้ศาลพิพากษาสั่งให้เพิกถอนทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่งจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ – ๓ ในคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๕/๒๕๐๒ ให้ที่ดินตราจองที่ ๑๒๒ เป็นของจำเลยที่ ๑ ตามเดิม
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ – ๓ ให้การว่า บิดามารดายกที่นาพิพาทให้จำเลยที่ ๒ – ๓ ส่วนจำเลยที่ ๑ ถูกตัดมรดก แต่จำเลยที่ ๑ ลอบนำตราจองที่พิพาทไปขอโอนรับมรดกเป็นของจำเลยที่ ๑ เสีย จำเลยที่ ๒ – ๓ จึงได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนขอโอนรับมรดก ผลสุดท้ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาล จำเลยที่ ๒ – ๓ ไม่เคยทราบมาก่อนทำสัญญาประนีประนอมว่า จำเลยที่ ๑ นำเอาตราจองไปประกันเงินกู้กับโจทก์ ทั้งไม่เคยสมคบกับจำเลยที่ ๑ หาทางไม่ชำระหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ทำลายนิติกรรมสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์จะฟ้องให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่ และฟังว่าจำเลยที่ ๑ ไม่เคยครอบครองที่พิพาทเลย แต่จำเลยที่ ๒ – ๓ ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของตลอดมา เชื่อว่าจำเลยที่ ๑ ลักเอาตราจองไปโอนรับมรดกโดยจำเลยที่ ๒ – ๓ ไม่รู้หรือไม่มีทางจะรู้ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน โจทก์ยึดตราจองไว้จากจำเลยที่ ๑ จึงหาก่อให้เกิดสิทธิในทรัพย์รายพิพาทไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยปัญหาที่ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๕/๒๕๐๒ นั้น จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ – ๓ สมยอมกันทำขึ้นเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เสียเปรียบ และโจทก์จะมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนทำลายได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าขอเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ – ๓ สมยอมกันทำขึ้นเพื่อการฉ้อฉลให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เสียเปรียบแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทำลายได้ หาได้ห้ามโจทก์มิให้ฟ้องในกรณีเช่นนี้ประการใดไม่ และฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ – ๓ ได้ครอบครองที่พิพาทมาฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ ลักเอาตราจองไปโอนเป็นของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ – ๓ มิได้เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยที่ ๒ – ๓ จึงมิได้ทุจริตสมยอมในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแต่ประการใด จึงฟังได้ว่า สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งแดงที่ ๑๑๕/๒๕๐๒ นั้น จำเลยที่ ๒ – ๓ ได้กระทำไปโดยสุจริต มิใช่เป็นการสมยอมเพื่อให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ ๑ เสียเปรียบแต่ประการใด
โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทำลายสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่ได้
พิพากษายืน

Share