คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยพิเคราะห์ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิเมื่อโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับวินิจฉัยให้ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326,328 เป็นคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีแพ่งขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์ไปติดต่อและพบเด็กหญิง ธ.จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์ติดต่อหรือพบกับเด็กหญิง ธ.โจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ได้ยอมความกันในคดีแพ่ง ศาลมีคำพิพากษาตามยอมปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาว่า “โจทก์แถลงว่าตามที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โจทก์จะไปดำเนินการถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวและจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอถอนเรื่องที่ร้องเรียนไว้ต่อไปศาลจึงบันทึกไว้เป็นสำคัญ” แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2ยินยอมระงับข้อพิพาทในคดีอาญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวด้วยดังนี้ย่อมแสดงชัดว่าเป็นการยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2โดยชอบด้วยกฎหมาย และสำหรับจำเลยที่ 1ซึ่งถูกฟ้องในมูลความคดีเดียวกันกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นผู้บันทึกข้อความดังกล่าวลงในบัตรตรวจโรค จำเลยที่ 1 ก็คือบุคคลผู้เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นเอง เมื่อเจตนารมณ์ของคู่ความชี้ชัดว่าโจทก์ยอมความกับจำเลยที่ 2 โดยประสงค์ให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยจึงเป็นการแสดงเจตนาไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 269, 326, 328

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับข้อหาทำคำรับรองเป็นเอกสารอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนและใช้เอกสารเท็จโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นแพทย์ในกลุ่มงานสูตินารีเวชกรรมและวางแผนครอบครัวทำการตรวจรักษาเด็กหญิงธันย์ชนก รัตนเมือง และบันทึกการตรวจลงในบัตรตรวจโรคตามสำเนาเอกสารหมาย จ.4 เพราะร้อยตำรวจเอกวรรัตน์ เงินหมื่น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานีส่งตัวมาให้ตรวจเนื่องจากจำเลยที่ 2 ทราบอาการเจ็บป่วยของเด็กหญิงธันย์ชนกซึ่งเกิดขึ้นหลังจากโจทก์พาไปนอกบ้านแล้วจำเลยที่ 2 นำเด็กหญิงธันต์ชนกไปปรึกษาร้อยตำรวจเอกวรวัฒน์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลความผิดโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยโดยพิเคราะห์ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ดังนี้ เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ที่ไม่รับวินิจฉัยให้ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฉะนั้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3จะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

สำหรับข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงเฉพาะจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่มีมูลความผิด ส่วนจำเลยที่ 2ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ยอมความกันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม2541 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 71/2541 ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) นั้น โจทก์ฎีกาว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 มิใช่การยอมความโดยชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 127/2540 คดีหมายเลขแดงที่ 71/2541ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้บังคับจำเลยยินยอมให้โจทก์ไปติดต่อและพบเด็กหญิงธันย์ชนก รัตนเมือง จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้ห้ามโจทก์ติดต่อหรือพบกับเด็กหญิงธันย์ชนก โดยระบุว่าโจทก์ทำอนาจารบุตรจนอวัยวะเพศฉีกขาด บวมและอักเสบ จำเลยที่ 2นำใบรับรองแพทย์ไปเป็นหลักฐานเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานีให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลดังกล่าวมีคำสั่งเรียกบัตรตรวจโรคของเด็กหญิงธันย์ชนกจากโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี และทราบข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 ในฐานะแพทย์ผู้ตรวจรักษาเด็กหญิงธันย์ชนกบันทึกว่าเด็กหญิงธันย์ชนกมีอาการปวดที่อวัยวะเพศ เด็กบอกว่า พ่อใช้นิ้วใส่ไปที่ช่องคลอด โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ แต่ปรากฏว่าขณะคดีอยู่ระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์กับจำเลยที่ 2 ก็ได้ยอมความกันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 71/2541 โดยศาลมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ดังกล่าว ดังนี้ ข้อความที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งโจทก์เองก็ตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่าโจทก์เป็นผู้แถลงซึ่งมีข้อความว่า “โจทก์แถลงว่า ตามที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ โจทก์จะไปดำเนินการถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวและจะทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอถอนเรื่องที่ร้องเรียนไว้ต่อไปศาลจึงบันทึกไว้เป็นสำคัญ” เห็นว่า แม้โจทก์จะผิดข้อตกลงไม่ไปดำเนินการถอนฟ้องให้ก็ตาม แต่ข้อความที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ยินยอมระงับข้อพิพาทในคดีอาญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 และบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวด้วย ดังนี้ย่อมแสดงชัดว่าเป็นการยอมความกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2โดยชอบด้วยกฎหมาย และสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งถูกฟ้องในมูลความคดีเดียวกันกับจำเลยที่ 2 เนื่องจากเป็นผู้บันทึกข้อความดังกล่าวลงในบัตรตรวจโรคจำเลยที่ 1 ก็คือบุคคลผู้เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 นั้นเอง ฉะนั้น เมื่อเจตนารมณ์ของคู่ความในคดีดังกล่าวเป็นดังที่ได้ลำดับความมาแล้ว ย่อมชี้ชัดว่าโจทก์ยอมความกับจำเลยที่ 2 โดยประสงค์ให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการแสดงเจตนาไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง มิใช่แต่เพียงจำเลยที่ 2 เท่านั้น ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไว้ไม่ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 โดยวินิจฉัยข้อเท็จจริงมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”

พิพากษายืน

Share