คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา … ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) จำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357, 58 ให้บวกโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18/2558 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ และให้จำเลยคืนเงิน 1,500 บาท รองเท้าสีฟ้าอมเขียว ราคา 1,000 บาท ทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนรวมเป็นเงิน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุก 1 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกของจำเลยเป็นส่งตัวไปควบคุมตัวเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี ถ้าขณะคดีถึงที่สุดจำเลยอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยยังไม่ได้ถูกควบคุมตัวเพื่อฝึกและอบรม ให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกไว้ในเรือนจำกลางยะลามีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาแทนรวมเป็นเงิน 2,500 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 18/2558 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยจึงไม่อาจบวกโทษได้ ให้ยกคำขอโจทก์ในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายลักเอาเงินสดจำนวน 1,500 บาท รองเท้าสีฟ้าอมเขียว 1 คู่ ราคา 1,000 บาท และรองเท้ายี่ห้อ NIKE (ไนกี้) สีชมพู – เหลือง 1 คู่ ราคา 1,000 บาท ของผู้เสียหายไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดรองเท้าผ้าใบยี่ห้อไนกี้ สีชมพู – เหลือง โดยเชือกผูกรองเท้าเป็นสีเขียวข้างหนึ่งและสีส้มอีกข้างหนึ่งอยู่ในร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ของบิดาจำเลยจึงยึดไว้เป็นของกลาง
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า อุทธรณ์ของจำเลยต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา … ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) จำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (8) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการต่อมาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของผู้เสียหายเกี่ยวกับคดีมีเพียงการไปติดตามทรัพย์ของผู้เสียหายที่หายไปที่บ้านของบิดาจำเลย เหตุที่ตามไปที่บ้านดังกล่าว ผู้เสียหายเบิกความในทำนองว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้จำเลยเคยลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป เมื่อผู้เสียหายไปถึงพบรองเท้าผ้าใบของกลางวางอยู่ที่พื้นภายในบ้าน แต่ผู้เสียหายไม่เห็นเหตุการณ์ขณะมีการลักทรัพย์ภายในบ้าน เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานอื่นที่เห็นเหตุการณ์ และไม่มีพยานแวดล้อมกรณีที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหายตามฟ้อง ลำพังการติดตามรองเท้าผ้าใบของกลางที่ยังมีข้อโต้แย้งจากจำเลย โดยจำเลยปฏิเสธว่าเป็นรองเท้าของจำเลยที่คนรักของจำเลยซื้อให้เป็นของขวัญวันเกิด จึงยังฟังแน่ชัดไม่ได้ว่ารองเท้าผ้าใบของกลางเป็นของผู้เสียหาย อีกทั้งตามภาพถ่ายเป็นภาพรองเท้าผ้าใบของกลางซึ่งมีสภาพเก่า ผ่านการใช้งานมาแล้ว ผู้เสียหายเบิกความเกี่ยวกับรองเท้าของกลางว่า ขณะพบรองเท้าผ้าใบที่บ้านบิดาจำเลยนั้น รองเท้าผ้าใบมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิมที่เชือกผูกรองเท้าเป็นสีเขียวทั้งสองข้าง แต่ถูกเปลี่ยนเป็นเชือกสีส้มข้างหนึ่ง สีเขียวข้างหนึ่ง ในข้อนี้แตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนที่ผู้เสียหายให้การว่า ขณะพบรองเท้าผ้าใบที่บ้านบิดาจำเลย ผู้เสียหายจดจำรองเท้าผ้าใบได้ว่าเป็นของผู้เสียหาย โดยรองเท้ามีสภาพเดิม มีตำหนิที่เห็นชัดคือเชือกผูกรองเท้าข้างหนึ่งเป็นสีเขียว อีกข้างหนึ่งเป็นสีส้ม คำเบิกความและคำให้การของผู้เสียหายที่ขัดแย้งกันเองเช่นนี้เป็นข้อสาระสำคัญทำให้ยังฟังเป็นแน่ชัดไม่ได้ว่าผู้เสียหายสามารถจดจำรองเท้าผ้าใบ ซึ่งเป็นทรัพย์ของกลางเพียงอย่างเดียวที่ตรวจยึดได้ในคดีมากน้อยเพียงใด คำเบิกความของผู้เสียหายยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า รองเท้าผ้าใบของกลางที่พนักงานสอบสวนตรวจยึดได้ที่บ้านบิดาจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกลักไป ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความและให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยเคยลักทรัพย์ของผู้เสียหายมาก่อนหน้านี้ ยังไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปในครั้งนี้ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย จึงต้องห้ามมิให้รับฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/2 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อพิจารณารายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนพบว่า จำเลยเคยมีประวัติการกระทำความผิดโดยถูกดำเนินคดีอาญาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งเป็นความผิดในลักษณะเดิม ทั้งมีประวัติเสพพืชกระท่อมอันเป็นยาเสพติดให้โทษและสูบบุหรี่ ส่วนในด้านครอบครัวจำเลยนั้นพบว่า บิดามารดาจำเลยแยกทางกัน จำเลยจึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจถูกชักจูงในการกระทำความผิดได้ และพฤติกรรมของจำเลยมีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิด จึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของจำเลย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138
พิพากษายืน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 (6) (7) และ (8) เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของจำเลย จึงกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยและบิดาจำเลยไปพบนักจิตวิทยาประจำสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดยะลา เพื่อประเมินสภาพจิตใจและสภาพปัญหาของจำเลยและครอบครัว ให้นักจิตวิทยาจัดให้จำเลยและบิดาจำเลยเข้าร่วมกิจกรรมครอบครัวบำบัด ให้จำเลยและบิดาจำเลยพบนักจิตวิทยาเพื่อขอรับคำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาเล่าเรียน ทักษะการใช้ชีวิต และให้บิดาจำเลยรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่ถูกต้องเหมาะสม และให้บิดาจำเลยพาจำเลยไปรับการบำบัดการเสพยาเสพติดให้โทษและเลิกบุหรี่ที่สถานบำบัดใกล้บ้านแล้วนำผลการบำบัดมาแสดงต่อนักจิตวิทยา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่นักจิตวิทยากำหนดจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แล้วให้นักจิตวิทยารายงานผลการดำเนินการต่อศาลชั้นต้น

Share