แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ร้องไม่ได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะเข้าสู้ราคาว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรเมื่อใด อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนที่ดินล่าช้าจะทำให้ผู้ร้องเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจถึงขนาดว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้อง จึงไม่อาจถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรู้โดยปริยาย ทั้งการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ซื้อทรัพย์สินอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ที่จะถือว่าการซื้อขายจะเป็นผลสำเร็จก็แต่ด้วยมีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาด ทั้งคดีในชั้นที่ อ.ร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้อง มิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องกลายเป็นพ้นวิสัย กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอมัดจำคืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 บัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาดผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่ผู้ร้องสู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจยกบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความผูกพันได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเท่าที่ศาลไม่สั่งคืนกับค่าทนายความอีก 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 55,340 บาทแทนโจทก์ โดยให้ชำระภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากจำเลยทั้งห้าผิดนัดให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ แต่จำเลยทั้งห้าไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีศาลแพ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลชั้นต้นบังคับคดีแทน เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ ๑รวม 16 แปลง ออกขายทอดตลาด และขายให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้ราคาสูงสุดในราคารวม 93,000,000 บาท นายอรรถทวี โชคสว่างเนตร ผู้เข้าสู้ราคาด้วยคนหนึ่งร้องคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วพิพากษายกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ก่อนถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 15 วัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งพิพากษายืนในคดีที่นายอรรถทวีร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรวม 16 แปลง และได้วางมัดจำไว้แล้ว แต่จนบัดนี้เป็นเวลาประมาณ 6 ปี ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าวเพื่อลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเชิงธุรกิจ ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นยังไม่ตกต่ำเหมือนเช่นในปัจจุบันซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยสภาพและโดยเจตนาของคู่สัญญาถือได้โดยปริยายว่าการซื้อขายจะสำเร็จภายในกำหนดระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาดเท่านั้น ผู้ร้องหาต้องผูกพันไปจนกว่าศาลจะชี้ขาดในเรื่องการคัดค้านการขายถึงที่สุด หรือต้องผูกพันตลอดไปไม่ การที่ยังไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเนื่องจากมีผู้คัดค้านการขายมิใช่ความผิดของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และกรณีถือว่าการชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัย ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบอกเลิกสัญญาต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียกคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งรับการบอกเลิกสัญญา ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมและให้เจ้าพนักงานบังคับคดีคืนมัดจำแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินรวม 16 แปลง จากการขายทอดตลาดในคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2539 ในราคารวม 93,000,000 บาท ผู้ร้องวางมัดจำไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่อาจดำเนินการเพื่อโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องได้ เนื่องจากนายอรรถทวี โชคสว่างเนตร ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงคืนมัดจำบางส่วนให้แก่ผู้ร้องคดีในชั้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษา (ที่ถูกเป็นคำสั่ง) ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยก่อนที่ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา 15 วัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งรับการบอกเลิกสัญญาและขอให้คืนมัดจำ คดีมีปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินและขอมัดจำคืนหรือไม่ ซึ่งข้อฎีกาดังกล่าวหากศาลฎีกาเห็นด้วยกับผู้ร้อง ผลคดีย่อมเปลี่ยนแปลงไป จึงหาใช่ข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยดังที่โจทก์แก้ฎีกาไม่ ในปัญหาดังกล่าวผู้ร้องฎีกาสรุปความได้ว่า ผู้ร้องซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเพื่อนำมาลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แสวงหากำไรในเชิงธุรกิจ โดยสภาพและโดยเจตนาของคู่สัญญาจึงถือว่าได้มีการกำหนดไว้โดยปริยายว่าการซื้อขายจะสำเร็จภายในกำหนดระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาด ผู้ร้องได้รับความเสียหายเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันตกต่ำลงโดยธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อและขาดกำลังซื้อภายในประเทศ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องภายในเวลาอันสมควรย่อมถือว่าการชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัย ผู้ร้องจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 388 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างตามคำร้องของผู้ร้องไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้แจ้งความประสงค์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในขณะเข้าสู้ราคาและซื้อที่ดินว่าจะนำที่ดินไปพัฒนาเพื่อแสวงหากำไรเมื่อใด อย่างไร ซึ่งจะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนที่ดินล่าช้าจะทำให้ผู้ร้องเสียประโยชน์ในเชิงธุรกิจถึงขนาดว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้อง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างภายหลังทั้งสิ้น และไม่อาจถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับรู้โดยปริยาย ทั้งการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามคำสั่งศาลนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ที่จะถือว่าการซื้อขายจะเป็นผลสำเร็จก็แต่ด้วยมีการชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่ดำเนินการขายทอดตลาดดังที่ผู้ร้องฎีกา คดีในชั้นที่นายอรรถทวีร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องของนายอรรถทวี หาได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดอันจะทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องกลายเป็นพ้นวิสัยไม่ กรณีจึงไม่ต้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอมัดจำคืน ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องไม่ต้องผูกพันตามสัญญาไปจนกว่าคดีในชั้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุดหรือต้องผูกพันตลอดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 514 นั้น เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้ผู้สู้ราคาในการขายทอดตลาดพ้นความผูกพันในราคาที่ตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้น หรือมีการถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการขายทอดตลาด ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน แต่กรณีของผู้ร้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องสู้ราคาสูงสุดและเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินได้จากการขายทอดตลาดแล้วผู้ร้องจึงไม่อาจยกบทกฎหมายดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความผูกพันหรือบอกเลิกสัญญาได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและมีคำพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ