คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เอกสารที่จำเลยทำปลอม ผู้ชำนาญได้พิสูจน์แล้ว เอกสารนั้นหายไปไม่ได้มาเป็นพยานในคดีเรื่องเจ้าพนักงานปลอมเอกสารและรับรองเอกสารเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 162,157 กับมีพยานบุคคลว่าเป็นลายมือชื่อปลอม ศาลฟังพยานบุคคลเป็นพยานลงโทษได้ แม้ไม่มีตัวเอกสารปลอมมาเป็นพยานในคดี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 161, 162(1), (2), 157 จำคุกตามมาตรา 157, 90 มีกำหนด 7 ปีจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาประการแรกว่า โจทก์ไม่สามารถนำเอกสารที่โจทก์ฟ้องว่าทำปลอมขึ้นมาสู่ศาลได้ มีแต่ผู้ชำนาญการพิเศษและพยานบุคคลอื่น ๆ มาสืบความเป็นมาของเอกสาร จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำผิด เห็นว่า เอกสารที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำปลอมขึ้นมี 4 ฉบับคือ คำขอผ่อนผันแจ้งการครอบครองที่ดิน (ท.ด. 9) บันทึกถ้อยคำของนายใบ บุญสันต์ (ท.ด.16) บันทึกยืนระวังเขต และ ส.ค.1 ต้นฉบับของเอกสารดังกล่าวพนักงานสอบสวนได้ส่งไปให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์ เมื่อได้ทำการตรวจพิสูจน์เสร็จแล้วผู้ชำนาญการพิเศษได้ส่งเอกสารทั้งหมดพร้อมด้วยความเห็นมายังพนักงานสอบสวน และโจทก์ได้นำต้นฉบับรายงานการตรวจพิสูจน์รวม 3 ฉบับส่งศาล ตามเอกสารหมาย ป.จ.1, ป.จ.2และ ป.จ.3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากต้นฉบับรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยได้ทำเอกสารปลอมดังโจทก์ฟ้องจริง ส่วนเอกสารที่โจทก์มิได้ส่งศาลนั้น คือเอกสารปลอมทั้ง 4 ฉบับ เหตุที่โจทก์ไม่สามารถนำส่งศาลได้เพราะพันตำรวจตรีอรุณ ประสังสิต เบิกความว่าได้เป็นผู้ยืมไปจากพนักงานอัยการแล้วหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก ซึ่งเห็นว่าแม้จะหายไปก็ไม่เป็นข้อสำคัญ เพราะเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยและผู้ชำนาญการพิเศษผู้ตรวจพิสูจน์ได้มาเบิกความยืนยันต่อศาลพร้อมกับมีต้นฉบับรายงานการตรวจพิสูจน์ส่งศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็เป็นที่รับฟังได้ ทั้งโจทก์ยังมีพยานบุคคลมาสืบประกอบอีก เช่นนายย่วย พูลราม กำนันตำบลแสวงหา นายหอม บุญผ่อง ซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลแสวงหา พยานทั้งสองคนนี้เคยเห็นนายใบ บุญสันต์ ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ โดยเขียนนามสกุลว่าบุญสรรพ์ มิใช่บุญสันต์ บุคคลทั้งสองเป็นกำนันและเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ นอกจากนี้จำเลยนำสืบรับเข้ามาด้วยว่าเอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ฟ้องนั้นจำเลยเป็นผู้ทำขึ้นเพราะจำเลยรักษาราชการแทนที่ดินอำเภอแสดงว่าเอกสารเหล่านั้นอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาเชื่อว่าจำเลยได้กรอกข้อความและกระทำการปลอมลายมือชื่อลงในเอกสารนั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารดังกล่าวส่งศาล ศาลก็รับฟังพยานบุคคลที่รู้ข้อความในเอกสารนั้นซึ่งมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238”

พิพากษายืน

Share