คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4156/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยจดทะเบียนการหย่าและบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินยกให้แก่บุตรด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกหลังทะเบียนการหย่า โจทก์ในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยโอนทรัพย์สินนั้นให้แก่บุตรได้ส่วนบุตรจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนการหย่าโดยตกลงบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตรไว้ด้านหลังทะเบียนการหย่าว่าให้บุตรอยู่ในความดูแลและปกครองของโจทก์กับจำเลย ทรัพย์สินคือที่ดินพร้อมบ้านซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวยกให้บุตรทั้งสองหลังจากจดทะเบียนการหย่าแล้ว จำเลยไม่ยอมโอนทรัพย์สินให้แก่บุตรทั้งสองโจทก์ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้งแต่จำเลยไม่ยอมจึงขอให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดดังกล่าวให้นายพิทพล โชติสรยุทธ์ และนางสาวณัฐนิช โชติสรยุทธ์บุตรทั้งสอง โดยจำเลยกับโจทก์ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าภาษีอากรในการโอน หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า การจดทะเบียนการหย่านั้น โจทก์จำเลยต่างร่วมรู้กันว่าไม่มีเจตนาจะหย่าขาดจากกัน เหตุที่มีการทำสัญญาหย่า เพราะโจทก์หลงเชื่อทางไสยศาสตร์ว่า ถ้าไม่หย่าภายในต้นปี 2525 โจทก์จะต้องมีอันตรายถึงชีวิต และโจทก์เป็นหนี้บุคคลอื่นจำนวนมากเกรงว่าเจ้าหนี้จะยึดทรัพย์สิน ทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและสิ้นเนื้อประดาตัว จึงสมรู้กับจำเลยเพื่อลวงเจ้าหนี้โดยโอนทรัพย์สินให้แก่บุตรทั้งสองโดยระบุในบันทึกการหย่าว่า เพื่อเป็นสิริมงคลในการครองชีพ หลังจากนั้นโจทก์จำเลยยังอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยา ฉะนั้น สัญญาหย่าจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 117 และมาตรา 118 วรรคแรกหากบุตรทั้งสองเป็นผู้รับให้บุตรจะต้องเรียกร้องจากจำเลยไม่ใช่โจทก์ โจทก์ไม่อาจบังคับจำเลยได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้แก่นายพิทพล โชติสรยุทธ์ และนางสาวณัฐนิช โชติสรยุทธ์ ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่า การจดทะเบียนการหย่าและบันทึกตามเอกสารหลาย ล.1 เป็นโมฆะหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าเหตุที่หย่าเนื่องจากโจทก์มีหน้าที่การงานต้องเกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ จำเลยหึงหวงโจทก์จึงเกิดทะเลาะด่ากันอย่างหยาบ ๆและบางครั้งได้ทำร้ายร่างกายต่อกัน ในที่สุดได้ตกลงหย่าขาดจากกันและตกลงยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่บุตรทั้งสองคน ได้จดทะเบียนการหย่าเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2525 เห็นว่า จำเลยเบิกความยอมรับว่าโจทก์เป็นหญิงที่สวย สมัยเรียนหนังสือเป็นดาวจุฬาสำเร็จบัณฑิตเป็นสมุห์บัญชีใหญ่ของบริษัทดูเม็กซ์ เงินเดือนประมาณ 50,000 บาทถึง 60,000 บาท มีหน้าที่ต้อนรับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ที่มาจากต่างประเทศ แต่จำเลยไม่พอใจที่โจทก์ต้อนรับแขกชั้นรอง ๆ ด้วย ได้เกิดการโต้เถียงกันหลายครั้ง ขณะที่อยู่บ้านใหม่ โจทก์นำเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชามาเลี้ยงอาหารที่บ้าน จำเลยเห็นว่า ไม่จำเป็น ให้ไปเลี้ยงที่ภัตตาคารหรือที่โรงแรม โจทก์ไม่เชื่อฟัง จำเลยกับโจทก์เคยทะเลาะกันอย่างรุนแรงถึงกับมีการทำร้ายร่างกาย และบางครั้งจำเลยตีและเตะบุตรสาวแบบหยอกล้อธรรมดา โจทก์ไม่พอใจได้ทะเลาะกันเป็นเรื่องใหญ่เป็นการนำสืบที่เจือสมข้อนำสืบของโจทก์เกี่ยวกับเรื่องหึงหวงจนเกิดทะเลาะกันบ่อย ๆ ทั้งปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2525โจทก์ไปแจ้งความว่า ได้ทะเลาะกับจำเลยอยู่เสมอจำเลยขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.1ข้อนำสืบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยได้มีการทะเลาะและทำร้ายร่างกายกันเป็นประจำ ด้วยสาเหตุที่จำเลยหึงหวงโจทก์และความผิดเห็นไม่ตรงกัน ข้อนำสืบของจำเลยว่า โจทก์เชื่อหมอดูที่ทำนายว่าดวงชะตาของโจทก์จะถึงขาด จึงขอจดทะเบียนหย่าหลอก ๆเพื่อแก้เคล็ด แล้วจดทะเบียนสมรสกันใหม่ เห็นว่า เป็นข้ออ้างลอย ๆเพราะไม่ปรากฏหลักฐานหรือพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์หลงเชื่อหมอดูอย่างงมงายจนยอมจดทะเบียนการหย่าซึ่งเป็นเรื่องที่ถือว่าเสื่อมเสียชื่อเสียง ตรงกันข้ามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ทำงานมีตำแหน่งสูง เงินเดือนมาก มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชาวต่างประเทศ และเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ ย่อมจะมีประสบการณ์และมีจิตสำนึกที่หนักแน่นเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลยิ่งกว่าคำทำนายของหมอดูที่เลื่อนลอยหากจะมีการแก้เคล็ดเกี่ยวกับดวงชะตาก็น่าจะกระทำไปในทางสร้างบุญเช่นบุคคลทั่วไป ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นต้นเหตุทำให้ดวงชะตาโจทก์ถึงฆาตที่จะต้องจดทะเบียนการหย่าหลอก ๆ เพื่อแก้เคล็ดและจำเลยเบิกความว่า หลังจากจดทะเบียนการหย่าแล้ว โจทก์เร่งเร้าให้โอนบ้านและที่ดินให้แก่บุตรจำเลยเสนอให้โอนขายทรัพย์แล้วแบ่งเงินกันระหว่างโจทก์กับจำเลยโจทก์ไม่ยอม จำเลยเสนอจะโอนบ้านและที่ดินให้แก่บุตร แต่ต้องจดทะเบียนให้จำเลยทรงสิทธิเก็บกิน โจทก์ไม่ยอมอีกอ้างว่า ไม่มีข้อตกลงในสัญญา จำเลยจึงอ้างว่า ในสัญญาหย่าก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะโอนให้แก่บุตรเมื่อไร เห็นว่า เหตุที่จำเลยไม่ยอมโอนบ้านและที่ดินให้แก่บุตรตามสัญญา จำเลยอ้างว่าเป็นสินสมรสให้ขายแบ่งเงินกัน หรือต้องจดทะเบียนให้จำเลยให้แก่บุตรจำเลยก็ไม่มีบ้านพักที่อื่นอีก จึงจำเป็นต้องพักอาศัยร่วมบ้านเดียวกับโจทก์ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนการหย่าและบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินยกให้แก่บุตรด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆะ เมื่อจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงในบันทึกโจทก์ในฐานะคู่สัญญามีอำนาจฟ้องส่วนบุตรจะยอมรับทรัพย์สินหรือไม่เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี จำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าโดยโอนทรัพย์พิพาทให้แก่บุตรทั้งสองตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟ้องขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share