คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4140/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะทรัพย์ที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้นทรัพย์มรดกในส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 ผู้จัดการมรดกก็มีอำนาจหน้าที่จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทด้วย ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อโบราณวัตถุตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวไม่เป็นโมฆะ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามมิให้มีการซื้อขายโบราณวัตถุ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชำระเงินที่กู้ยืมจากผู้ตายไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจจัดการมรดก เพราะการจัดการมรดกของผู้ตายเสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยไม่เคยกู้เงินผู้ตาย แต่ผู้ตายให้เงินจำเลยไปซื้อโบราณวัตถุเพื่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว และเพื่อให้ทราบถึงจำนวนเงินที่ผู้ตายได้ลงทุนไป จำเลยจึงได้ทำหนังสือสัญญากู้ให้ผู้ตายไว้ ต่อมาไม่อาจดำเนินการได้เพราะมีกฎหมายห้าม สัญญากู้ที่จำเลยทำไว้จึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ทรัพย์มรดกในส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๒๐ นอกจากนั้นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๗๑๙ หาได้จำกัดอยู่เฉพาะทรัพย์ที่กำหนดไว้ในหนังสือพินัยกรรมไม่ ทรัพย์ที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือพินัยกรรมก็ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทด้วย ดังนั้นแม้สิทธิเรียกร้องตามหนังสือสัญญากู้ที่ฟ้องจะมิได้ระบุไว้ในหนังสือพินัยกรรมก็ตกอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะต้องจัดการนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ถึงแม้หากจะฟังว่านางเกียวผู้ตายมอบเงินให้จำเลยไปหาซื้อโบราณวัตถุเพื่อนำมาตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนตัว โดยให้จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ไว้ สัญญากู้ดังกล่าวก็หาได้ตกเป็นโมฆะไม่ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามิให้มีการซื้อขายโบราณวัตถุ
พิพากษายืน

Share