แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1246 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างและได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา บริษัทโจทก์จึงเป็นอันเลิกกัน ความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ย่อมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยโจทก์ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อโจทก์ให้คืนเข้าสู่สถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่สามารถมอบอำนาจให้ ย. อดีตกรรมการของโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ แม้มาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชี และการแก้ต่างว่าต่างในนามของโจทก์ย่อมเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1259 (1) เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 239,131,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 223,802,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มอีก 6,576,525 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 5,527,425 บาท นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2542 เป็นต้นไป กับของต้นเงิน 1,049,100 บาท นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ กำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 980, 982, 7151, 7152 ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 72 ตารางวา, 1 ไร่ 3 งาน 86.50 ตารางวา, 10 ไร่ 50 ตารางวา และ 10 ไร่ 1 งาน 17 ตารางวา ตามลำดับ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือ บ้านตัวอย่างและบ้านพักอาศัยหลายหลังในโครงการบ้านจัดสรรชื่อ “บ้านคัทรียา” ต่อมาที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวถูกเวนคืนบางส่วน อันเนื่องจากการดำเนินการของจำเลยตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121 สายทางเลี่ยงเมืองเชียงใหม่รอบนอก พ.ศ.2540 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 980 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 85 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 17,845 บาท คิดเป็นเงิน 8,654,900 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 982 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 1 ไร่ 3 งาน 54.90 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,572 บาท คิดเป็นเงิน 14,020,002 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 7151 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 5 ไร่ 64.30 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 18,572 บาท คิดเป็นเงิน 38,338,179 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7152 ถูกเวนคืนเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 7.20 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 17,500 บาท คิดเป็นเงิน 33,376,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 94,391,525 บาท โจทก์ไม่พอใจจึงยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่อมารัฐมนตรีฯ วินิจฉัยว่า อัตราเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 980, 982 และ 7151 เหมาะสมแล้ว ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7152 รัฐมนตรีฯ ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 ก่อนที่โจทก์ฟ้องคดี เมื่อปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้กลับจดชื่อโจทก์คืนสู่ทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าทดแทนสำหรับสาธารณูปโภคบางส่วนให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,576,525 บาท โจทก์และจำเลยฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาสรุปได้ว่า นายทะเบียนได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 แล้ว โจทก์จึงสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลอีกต่อไป โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นเวลาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246 อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนบริษัทร้างยังมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏตามหนังสือรับรองสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่ นายทะเบียนได้ขีดชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2541 และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ดังนั้น บริษัทโจทก์จึงเป็นอันเลิกกัน และความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ย่อมสิ้นไปโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 1246 (5) เมื่อปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น บริษัทโจทก์ผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเชียงใหม่กลับจดชื่อบริษัทโจทก์ให้คืนเข้าสู่ทะเบียนเพื่อคืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) บริษัทโจทก์ย่อมไม่สามารถมอบอำนาจให้นางยุพา อดีตกรรมการของโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ แม้ตามมาตรา 1249 จะบัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีก็ตาม ก็เป็นการตั้งอยู่เพื่อการชำระบัญชีและการแก้ต่างว่าต่างในนามของบริษัทโจทก์ย่อมเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259 (1) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาคณะคดีปกครอง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยในประเด็นข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ