แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้ว ศาลกะประเด็นไว้ว่า. ประเด็นสำคัญมีอยู่ว่า. ผู้ตายกับจำเลยได้หย่าขาดจากกันหรือไม่. และทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินบริคณห์หรือไม่. ซึ่งประเด็นข้อแรกเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นมาจึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามนั้น. ส่วนประเด็นว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินบริคณห์หรือไม่.เป็นประเด็นขั้นที่สอง เมื่อโจทก์ต้องสืบประเด็นแรกซึ่งสำคัญก่อนแล้ว ศาลย่อมให้โจทก์สืบประเด็นข้อหลังด้วยในคราวเดียวกันได้.
จำเลยไปแจ้งขอรับมรดกต่อเจ้าหน้าที่อำเภอว่าที่นาพิพาทเป็นมรดกของผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยว่า. ที่นาพิพาทเป็นมรดกของผู้ตาย. ไม่ได้แจ้งว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย. และเจ้าหน้าที่ได้โอนให้จำเลยในทางมรดก. จำเลยย่อมนำสืบได้ว่าจำเลยขอรับมรดกส่วนของผู้ตายตามสิทธิจำเลย. หาใช่เป็นเรื่องกรมธรรม์ปิดปากไม่.
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่พิพาทเป็นสินบริคณห์. ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยไม่มีสิทธิเอาสินบริคณห์ส่วนของจำเลยไปทำพินัยกรรมยกให้โจทก์. เมื่อผู้ตายตาย. จำเลยจึงขอโอนรับมรดก. จำเลยย่อมนำสืบเพื่อแสดงว่าทรัพย์นั้นเป็นสินบริคณห์ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเปล่งกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน เมื่อ 30ปีเศษมานี้ได้หย่าขาดจากกัน นายเปล่งทำพินัยกรรมยกที่ดิน 2 แปลงให้โจทก์ทั้งสอง นายเปล่งตายทรัพย์สินตามพินัยกรรมตกได้แก่โจทก์จำเลยไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่อันเป็นเท็จว่ายังเป็นภรรยานายเปล่งนายเปล่งไม่ได้ทำพินัยกรรมยกที่พิพาทให้ผู้ใด ขอรับมรดกที่พิพาทเจ้าหน้าที่หลงเชื่อจึงทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการโอนและพิพากษาว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ฯลฯ จำเลยให้การว่า จำเลยมีสินเดิม นายเปล่งไม่มีสินเดิม นายเปล่งไม่เคยหย่าขาดจากจำเลย โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ทายาท ฯลฯ วันเริ่มสืบพยาน จำเลยรับว่านายเปล่งทำพินัยกรรมไว้ตามฟ้องจริงแต่นายเปล่งกับจำเลยยังไม่หย่าขาดจากกัน ศาลชั้นต้นเห็นว่าประเด็นสำคัญมีว่า นายเปล่งกับจำเลยได้หย่าขาดกันหรือไม่ ทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินบริคณห์หรือไม่ โจทก์อ้างว่านายเปล่งกับจำเลยหย่าขาดกันแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบก่อน ประเด็นเรื่องทรัพย์เป็นสินบริคณห์หรือไม่ เป็นประเด็นชั้นที่สอง จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำสืบก่อน ในประเด็นเรื่องหย่าและเรื่องสินบริคณห์ในคราวเดียวกัน แล้วให้จำเลยสืบแก้ทั้งสองประเด็น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีสินเดิม นายเปล่งไม่มีพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท 1 ใน 3 ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียห้ามจำเลยเข้าขัดขวาง ฯลฯ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นายเปล่งก็มีสินเดิม พิพากษาแก้ว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาท 2 ใน 3 ส่วน ฯลฯ โจทก์จำเลยฎีกา ศาลฎีกาฟังว่า นายเปล่งและจำเลยยังมิได้หย่าขาดจากกันและต่างก็มีสินเดิม เกี่ยวกับหน้าที่นำสืบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคู่ความรับข้อเท็จจริงกันแล้ว ศาลชั้นต้นได้กะประเด็นไว้ว่าประเด็นสำคัญคงมีอยู่ว่านายเปล่งกับจำเลยได้หย่าขาดจากกันดังฟ้องหรือไม่และทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินบริคณห์หรือไม่ ซึ่งประเด็นแรกเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างขึ้นมา จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตายนั้น ส่วนประเด็นว่าทรัพย์ตามพินัยกรรมเป็นสินบริคณห์หรือไม่เป็นประเด็นขั้นที่สอง ซึ่งเมื่อโจทก์ต้องสืบประเด็นแรกซึ่งสำคัญก่อนแล้ว ศาลชั้นต้นจึงให้โจทก์สืบประเด็นข้อหลังด้วยในคราวเดียวกันซึ่งย่อมทำได้ เพราะสะดวกแก่การพิจารณา ไม่ต้องนำสืบกลับไปกลับมาให้ยุ่งยาก ฉะนั้น คำสั่งในเรื่องหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไปแจ้งขอรับมรดกต่อเจ้าหน้าที่อำเภอว่า ที่นาพิพาทเป็นมรดกของนายเปล่ง ไม่ได้แจ้งว่าจำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วย และเจ้าหน้าที่ได้โอนให้จำเลยในทางเป็นมรดกแล้วจำเลจจะมาสืบอ้างว่าจำเลยขอรับมรดกส่วนของนายเปล่งตามสิทธิของจำเลย จึงเป็นเรื่องกรมธรรม์ปิดปากจำเลย จำเลยจะสืบหักล้างไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีได้ความว่านายเปล่งได้ไปแจ้งการครอบครองที่พิพาททั้งสองแปลงตามแบบ ส.ค.1 (เอกสารหมาย จ.7, จ.8) ว่านายเปล่งเป็นเจ้าของ ฉะนั้น เมื่อนายเปล่งตาย จำเลยจึงต้องปฏิบัติการโดยวิธีการขอรับมรดก กรณีเช่นนี้หาใช่เป็นเรื่องกรมธรรม์ปิดปากดังฎีกาโจทก์ไม่ ทั้งจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้ว่าที่พิพาทเป็นสินบริคณห์นายเปล่งไม่มีสิทธิเอาสินบริคณห์ส่วนของจำเลยไปทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ เมื่อนายเปล่งตาย จำเลยจึงขอโอนรับมรดก จำเลยย่อมนำสืบเพื่อแสดงว่าทรัพย์นั้นเป็นสินบริคณห์ได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์จำเลยทั้งสองฝ่าย.