แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท จำเลยเข้ามาอาศัยอยู่โดยปราศจากสิทธิ ขอให้ขับไล่ จำเลยให้การว่า บ้านและที่ดินพิพาทเป็นของ ล.บุตรสาวจำเลย เดิม ล.กับโจทก์เป็นสามีภริยากัน โจทก์ได้หลอกลวงล.จะนำบ้านพร้อมที่ดินพิพาทไปกู้เงินธนาคาร ล.จึงโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หลังจากนั้น ล.กับโจทก์ก็หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา จำเลยอยู่ในบ้านโดยอาศัยสิทธิของ ล. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นตั้งประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทหรือไม่ แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับ ล.อยู่กินเป็นสามีภริยากันก่อนที่จะมีการจดทะเบียนสมรส ระหว่างเวลาดังกล่าว มีการซื้อบ้านและที่ดินพิพาทจดทะเบียนในนาม ล.โดยเงินที่ซื้อส่วนหนึ่งเป็นของโจทก์ อีกส่วนหนึ่งเป็นของ ล. โจทก์กับ ล.จึงเป็นเจ้าของร่วม การที่ ล.จดทะเบียนยกบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เป็นการกระทำของโจทก์ที่วางแผนเพื่อให้ ล.โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์โดยบอกว่าจะเอาไปจำนองในนามของโจทก์ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัวตามที่จำเลยกล่าวอ้างจริง อันเป็นการใช้กลอุบายเพียงเพื่อให้ ล.หลงเชื่อ แล้วโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เท่านั้น โดยโจทก์ไม่มีเจตนาที่จะนำบ้านและที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ธนาคาร การจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ของ ล. จึงเกิดขึ้นจากการทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ด้วยเจตนาที่สำคัญผิดอันเป็นสาระสำคัญ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 156 กรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของโจทก์กับ ล.ในฐานะเจ้าของร่วม เมื่อจำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ล.ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมคนหนึ่งจึงเป็นการเข้าอยู่อาศัยโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยนั้น เป็นการพิพากษาตามฟ้องตามประเด็นแล้ว