คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยเพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอนั้น โรงเรียนที่จะสร้างขึ้นยังไม่มีที่ดินและอาคารเรียนเป็นของตนเอง และยังไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดยกที่ดินให้แก่จำเลยเพื่อเป็นที่สร้างโรงเรียนดังกล่าว จึงเป็นการที่โจทก์ยกให้ที่มีวัตถุประสงค์ชี้ชัดอยู่ในตัวว่าเพื่อให้จำเลยนำที่ดินพิพาทไปใช้เป็นสถานที่สำหรับสร้างโรงเรียน ได้แก่อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นประการสำคัญ กรณีมิใช่เป็นการสละสิทธิครอบครองด้วยการยกให้โดยเด็ดขาด แต่เป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ จำเลยย่อมไม่สามารถนำที่ดินพิพาทไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ตามอำเภอใจ และเมื่อโจทก์ยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอยู่โดยจำเลยไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเลย แม้คณะกรรมการศึกษาโดยศึกษาธิการอำเภอเคยจ้างรถเกรดมาไถที่ดินพิพาทให้เตียน ก็ไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการอื่นใดต่อมาเป็นกิจจะลักษณะที่พอจะแสดงว่าจำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาท และตั้งแต่โจทก์ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ทางโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอก็ไม่ได้เข้าไปก่อสร้างหรือทำประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินพิพาทเลย การที่หลังจากจำเลยได้รับงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรียนแล้ว จำเลยไม่ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่สร้างโรงเรียน แต่กลับไปสร้างโรงเรียนในที่ดินแปลงอื่นที่ไกลออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งบุคคลอื่นยกให้และมีความเหมาะสมกว่า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เข้าปลูกสร้างอาคารหรือปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวกับการสร้างโรงเรียนลงในที่ดินพิพาทดังนี้จึงเท่ากับจำเลยไม่ได้รับเอาที่ดินพิพาทที่โจทก์ยกให้ไปสร้างโรงเรียนตามเงื่อนไขของโจทก์ จำเลยจะอ้างเอาภายหลังว่าจำเลยจะสงวนที่ดินพิพาทไว้ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นของโรงเรียนเป็นการฝ่าฝืนต่อความประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์หาได้ไม่ ที่ดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นของทางราชการและไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
นับตั้งแต่โจทก์ยกที่ดินให้แก่จำเลยโดยมีเงื่อนไขให้จำเลยสร้างโรงเรียน จำเลยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวที่ดินพิพาทเลย มีแต่ในระยะแรก นักเรียนโรงเรียนมัธยมที่จำเลยสร้างขึ้นในที่ดินแปลงอื่นได้มาขออนุญาตโจทก์ทำแปลงสาธิตการเกษตรในที่ดินพิพาทบางส่วนแต่ปลูกพืชไม่ได้ผลเพราะขาดแคลนน้ำ จึงเลิกไปไม่ได้กลับมาปลูกอีก โจทก์ก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ต่อมาเมื่อทางราชการประกาศให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานออกมารังวัดตรวจสอบที่ดิน จำเลยก็ไม่ได้คัดค้าน หลังจากนั้นโจทก์และบุตรปลูกบ้านและห้องแถวลงในที่ดินพิพาท จำเลยก็ไม่ได้คัดค้านเช่นเดียวกันและเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ โจทก์ก็ไปขอคืนจำเลยจึงให้โจทก์หาที่ดินแปลงอื่นไปแลก แต่ตกลงราคากันไม่ได้ โจทก์ก็ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนี้ เมื่อโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยย่อมไม่มีสิทธิคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ
เมื่อกรณีเป็นเรื่องที่จำเลยนำที่ดินของโจทก์ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบมิใช่เป็นเรื่องการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์หรือจำเลยศาลจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยกระทำให้ถูกต้องโดยให้จำเลยถอนคำคัดค้าน และให้เพิกถอนที่พิพาทออกจากทะเบียนได้โดยไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2498 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ 6 ตารางวา ต่อมาถูกทำถนนสาธารณประโยชน์เหลือเนื้อที่ 5 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทคดีนี้ ในปี 2510 โจทก์ทั้งสองแสดงเจตนายกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยมีเงื่อนไขว่าให้ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งแรกของอำเภอชัยบาดาล จำเลยที่ 2 รับการยกให้ตามเงื่อนไขดังกล่าว ต่อมาปี 2513 จำเลยที่ 2 ได้ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อ “โรงเรียนชัยบาดาลวิทยา” ในที่ดินแปลงอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไข โจทก์ทั้งสองจึงแสดงเจตนายกเลิกการให้ที่ดินพิพาทและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนถึงปัจจุบัน และเมื่อปี 2516 โจทก์ที่ 2 ได้แจ้งต่อทางราชการเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในที่ดินพิพาทและขอรับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ทางราชการออกให้ เลขที่ 827 แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนชัยบาดาลวิทยาได้คัดค้านให้ระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองได้ติดต่อทวงถามให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรมในรัฐบาลมีหน้าที่เป็นผู้ใช้สอยจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุแปลงพิพาท จำเลยที่ 3 เป็นกรมในรัฐบาลผู้มีหน้าที่ดูแลรักษาจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ และจำเลยที่ 4 เป็นกระทรวงในรัฐบาลมีหน้าที่ปกครองดูแลบำรุงรักษาจัดหาประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ให้ร่วมกันคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แจ้งว่าหากประสงค์จะได้คืนต้องหาที่ดินแปลงอื่นที่มีราคาเท่ากันหรือสูงกว่ามาแลกเปลี่ยน โจทก์ทั้งสองเข้าใจผิดว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว จึงหาซื้อที่ดินแปลงอื่นมาเพื่อขอแลกเปลี่ยน แต่จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้นายอำเภอชัยบาดาลระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และนำที่ดินพิพาทขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ทำให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใช้สอยจัดหาประโยชน์จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาจัดหาประโยชน์ และจำเลยที่ 4 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 827 ขอให้เพิกถอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) ข้างต้นออกจากการเป็นที่ดินราชพัสดุ ให้จำเลยที่ 1 ยกเลิกหนังสือด่วนมากที่ 38/2519 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2519 ถึงนายอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ที่ให้ระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ข้างต้น ให้แก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ยกเลิกการนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ข้างต้นขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามมิให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 มายุ่งเกี่ยวหรือรบกวนการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ข้างต้น และให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 มีคำสั่งให้นายอำเภอชัยบาดาลมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ข้างต้นแก่โจทก์ทั้งสอง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ยกเลิกหรือถอนชื่อของจำเลยที่ 4 ออกจากการเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน 42320 หรือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ข้างต้น หากจำเลยที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้คดี และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นของกรมประชาสงเคราะห์อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ซึ่งโจทก์ทั้งสองมีเพียงสิทธิครอบครองเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อมาในช่วงระหว่างปี 2509 ถึง 2510 โจทก์ทั้งสองกับราษฎรอีก 2 ราย ได้แสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นที่อยู่ติดกันให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อใช้เป็นสถานที่สร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ และกรมประชาสงเคราะห์ก็เห็นชอบและอนุญาตแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และเป็นที่ดินราชพัสดุอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดหาประโยชน์ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใช้สอยทำประโยชน์ แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 จะก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินแปลงอื่น แต่ก็ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นแปลงสาธิตการเกษตรสำหรับนักเรียน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะครูใหญ่โรงเรียนชัยบาดาลวิทยาคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของโจทก์ที่ 2 และนำที่ดินพิพาทขึ้นทะเบียนเป็นที่ดินราชพัสดุ จึงเป็นไปตามขอบอำนาจหน้าที่และระเบียบของทางราชการ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอคืนที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟ้องแย้งขอให้บังคับให้โจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจำนวน 4 หลัง ออกไปจากที่ดินพิพาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 190,360.14 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 1,177 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 4

โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ค่าเสียหายตั้งแต่ปี 2519 ถึง 2532 ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสองและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจำนวน 4 หลัง ออกไปจากที่ดินพิพาท และให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 1,141 บาท แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 นับแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2532 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทเสร็จสิ้นคำขออื่นให้ยก

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 82 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 827 ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการยกเลิกหนังสือที่ 38/2519 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2519 ถึงนายอำเภอชัยบาดาลที่ขอให้ระงับการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของที่ดินพิพาท และให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนที่ดินราชพัสดุ หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาฉบับนี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 คำขออื่นให้ยกเสีย ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 และที่ 4

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของกรมประชาสงเคราะห์อยู่ในความดูแลของนิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ปี 2498 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันได้รับจัดสรรให้ครอบครองทำประโยชน์ ปี 2510 ทางราชการและประชาชนในเขตท้องที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีความประสงค์ที่จะให้ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งแรกในอำเภอชัยบาดาล โจทก์ทั้งสองจึงยกที่ดินพิพาทรวมกับที่ดินของบุคคลอื่นบริเวณนั้นเนื้อที่ 23 ไร่ 1 งาน 69 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นสถานที่สร้างโรงเรียนมัธยมดังกล่าว โดยกรมประชาสงเคราะห์อนุญาต ปี 2511 ทางราชการอนุมัติให้ตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาขึ้นที่อำเภอชัยบาดาลได้ แต่เนื่องจากยังไม่มีอาคารเรียนจึงไปอาศัยอาคารเรียนของโรงเรียนบ้านลำนารายณ์ไปพลางก่อนปีต่อ ๆ มามีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นต้องย้ายไปใช้อาคารพาณิชย์ของนายวิชัย หิรัญรักษ์ เป็นอาคารเรียน ปี 2513 จำเลยที่ 2 ได้รับงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรียนจึงทำการก่อสร้างโรงเรียนลงในที่ดินซึ่งนายถ่าย หิรัญรักษ์ บริจาค ให้จำนวนเนื้อที่ 30 ไร่เศษ ตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ห่างจากบริเวณที่ดินพิพาทประมาณ 500 เมตรสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จต้นปี 2514 ใช้ชื่อโรงเรียนชัยบาดาลวิทยา ปี 2516 โจทก์ที่ 2ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทและปี 2519 จำเลยที่ 3 ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุทะเบียนเลขที่ 42320

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองสละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยยกให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่มีเงื่อนไขและจำเลยที่ 2 ได้เข้าถือเอาที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของทางราชการและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอคืนหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ทั้งสองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอชัยบาดาล ขณะนั้น โรงเรียนที่จะสร้างขึ้นยังไม่มีที่ดินและอาคารเรียนเป็นของตนเอง และยังไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใดยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นที่สร้างโรงเรียนดังกล่าว ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อสร้างโรงเรียนจึงเป็นการยกให้ที่มีวัตถุประสงค์ชี้ชัดอยู่ในตัวว่าเพื่อให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปใช้เป็นสถานที่สำหรับสร้างโรงเรียนได้แก่อาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นประการสำคัญ ไม่ใช่เป็นการสละสิทธิครอบครองด้วยการยกให้โดยเด็ดขาดจนจำเลยที่ 2 สามารถนำที่ดินพิพาทไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นให้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของโจทก์ทั้งสองได้ตามอำเภอใจ การยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการยกให้โดยมีเงื่อนไข เมื่อโจทก์ทั้งสองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ทั้งสองยังครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพราะโจทก์ทั้งสองมีบ้านเรือนอยู่อาศัยใกล้ที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเลย แม้จะได้ความว่าคณะกรรมการศึกษาโดยศึกษาธิการอำเภอเคยจ้างรถเกรดมาไถที่ดินพิพาทให้เตียน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการอื่นใดต่อมาเป็นกิจจะลักษณะที่พอจะแสดงว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาท กลับได้ความว่า ตั้งแต่ปี 2511 ถึงปี 2514 ทางโรงเรียนไม่ได้เข้าไปก่อสร้างหรือทำประโยชน์อย่างอื่นในที่ดินพิพาทเลย ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในเวลาต่อมาว่า หลังจากจำเลยที่ 2 ได้รับงบประมาณสำหรับสร้างโรงเรียนแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่สร้างโรงเรียน แต่กลับไปสร้างโรงเรียนในที่ดินแปลงอื่นไกลออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งบุคคลอื่นยกให้และมีความเหมาะสมกว่า เนื่องจากมีเนื้อที่มากกว่าและทำเลดีกว่าเพราะตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้เข้าปลูกสร้างอาคารหรือปลูกสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวกับการสร้างโรงเรียนลงในที่ดินพิพาทเลย ย่อมเท่ากับจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับเอาที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสองยกให้ไปสร้างโรงเรียนตามเงื่อนไขของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จะอ้างเอาภายหลังว่าแม้ไม่ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนแต่ก็จะสงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นของโรงเรียนเป็นการฝ่าฝืนต่อความประสงค์ที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสองหาชอบไม่ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทตกเป็นของทางราชการและเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ทั้งสองหรือจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากต่างเบิกความยืนยันสอดคล้องกันว่า นับตั้งแต่สร้างโรงเรียนชัยบาดาลวิทยาเสร็จในปี 2514 เป็นต้นมา จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวที่ดินพิพาทเลย มีแต่ในระยะแรก นักเรียนโรงเรียนชัยบาดาลวิทยาได้มาขออนุญาตโจทก์ทั้งสองทำแปลงสาธิตการเกษตรในที่ดินพิพาทบางส่วน แต่ปลูกพืชไม่ได้ผลเพราะขาดแคลนน้ำจึงเลิกไปไม่ได้กลับมาปลูกอีก โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาปี 2516 ทางราชการประกาศให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ที่ 1 ให้โจทก์ที่ 2 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานออกมารังวัดตรวจสอบที่ดิน จำเลยไม่ได้คัดค้าน ปี 2518 โจทก์ทั้งสองและบุตรปลูกบ้านและห้องแถวลงในที่ดินพิพาท จำเลยไม่ได้คัดค้านเช่นเดียวกัน และเมื่อโจทก์ทั้งสองทราบว่าจำเลยขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ โจทก์ไปขอคืนจำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้โจทก์ทั้งสองหาที่ดินแปลงอื่นไปแลก แต่ตกลงราคากันไม่ได้โจทก์ทั้งสองคงครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา พยานโจทก์แต่ละปากเคยเป็นครูเป็นอาจารย์อาวุโส เป็นกรรมการศึกษา กรรมการของโรงเรียน เป็นประธานกรรมการโรงเรียนชัยบาดาลวิทยาและเป็นพระภิกษุสงฆ์ในอำเภอซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ โดยเฉพาะโจทก์ทั้งสองเคยบริจาคที่ดินเป็นทางสาธารณะและสำหรับสร้างโรงพยาบาลมาแล้ว โจทก์ทั้งสองเป็นคนดี เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป จึงน่าเชื่อว่าพยานโจทก์เหล่านี้จะได้อยู่ใกล้ชิดรู้เห็นความเป็นมาของที่ดินพิพาทและมาเบิกความตามความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองมีบ้านเรือนอยู่ใกล้ที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าถือเอาและไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาแต่แรก และต่อมาจำเลยที่ 2 กลับไปสร้างโรงเรียนในที่ดินแปลงอื่นย่อมมีเหตุผลที่โจทก์ทั้งสองจะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อ ๆ มา จนได้ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทปลูกไม้ล้มลุก ไม้ยืนต้นและปลูกบ้านเรือนห้องแถวลงไป โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนชัยบาดาลวิทยาห่างจากที่ดินพิพาทเพียงประมาณ 500 เมตร เท่านั้น มีโอกาสที่จะเห็นการครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองและทำการคัดค้านโต้แย้งเสียแต่แรกได้ แต่ก็หาได้ทำไม่ จำเลยที่ 1 เพิ่งคัดค้านโต้แย้งและแจ้งความร้องทุกข์ในปี 2519 ซึ่งเป็นปีที่ทางราชการนัดมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 และเป็นปีที่จำเลยที่ 3 เพิ่งจะจดทะเบียนขึ้นทะเบียนราชพัสดุที่ดินพิพาทนั่นเอง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทด้วยตามหลักฐานเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 นั้น ก็มีข้อความระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งจะขอเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 2 เหมือนอย่างที่ออกให้แก่โจทก์ที่ 2 แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ก่อนจำเลยที่ 2 อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์และดูแลรักษาที่ดินพิพาทอย่างใกล้ชิดตลอดมาจำเลยทั้งสี่อ้างอีกประการหนึ่งว่า ทางโรงเรียนชัยบาดาลวิทยาได้ให้นักเรียนเข้าไปทำแปลงสาธิตการเกษตรในที่พิพาทเรื่อยมา โจทก์รู้ดีแต่ไม่คัดค้าน ข้อนี้โจทก์ได้นำสืบยืนยันอยู่ว่าที่นักเรียนเข้าไปทำแปลงสาธิตการเกษตรได้ก็เพราะโจทก์ทั้งสองอนุญาตและทำอยู่ไม่กี่ปีก็หยุดไปเพราะไม่มีน้ำ ส่วนที่จำเลยทั้งสี่อ้างว่า โจทก์ไม่คัดค้านหรือไม่ทักท้วงตอนจำเลยที่ 2 สร้างโรงเรียนลงบนที่ดินแปลงอื่น และไม่เคยขอที่ดินพิพาทคืนนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 สร้างโรงเรียน แต่จำเลยที่ 2 ไม่สร้างก็ไม่ใช่เรื่องของโจทก์ทั้งสองที่จะต้องคัดค้าน มีแต่โจทก์จะคิดว่าจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ที่จะใช้ที่ดินพิพาทสร้างโรงเรียนต่อไป ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่ของโรงเรียนจึงไม่มีอะไรที่โจทก์ทั้งสองจะต้องขอคืนจากจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 จัดการขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินราชพัสดุ โจทก์ทั้งสองจึงขอคืนจากทางราชการ ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้คัดค้านหรือขอคืนที่ดินพิพาทตั้งแต่ต้นจึงไม่ใช่ข้อที่จะแสดงว่าโจทก์ทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของทางราชการและโจทก์ไม่มีสิทธิในที่พิพาทประการสุดท้ายโจทก์ทั้งสองเคยหาที่ดินแปลงอื่นมาขอแลกที่ดินพิพาทคืน แสดงว่าที่พิพาทเป็นของทางราชการหรือไม่ เห็นว่า ที่โจทก์ต้องหาที่ดินแปลงอื่นมาแลกก็เพราะโจทก์ทั้งสองเห็นว่าที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์ทั้งสอง จึงขอคืนจากทางราชการเมื่อทางราชการไม่คืนให้ แต่เป็นฝ่ายเสนอแนะให้โจทก์ทั้งสองหาที่ดินแปลงอื่นมาแลกเองโจทก์ทั้งสองจึงต้องดำเนินการตามนั้น หาใช่เพราะโจทก์ทั้งสองยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของราชการหรือของจำเลยที่ 2 ไม่ เมื่อพิจารณาถึงสภาพที่ดินพิพาทตามแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานที่ดินจัดทำขึ้นตามคำสั่งศาลประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่นำสืบ จะเห็นได้ว่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ อาคารบ้านเรือนล้วนแต่ฝ่ายโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นทั้งสิ้นหามีของฝ่ายจำเลยที่ 2 ไม่ พยานโจทก์ทุกปากต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จำเลยที่ 2 ไม่ได้เข้าครอบครองยุ่งเกี่ยว แม้ตอนโจทก์ทั้งสองบริจาคที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่คนหนึ่งคนใดคัดค้านโต้แย้ง พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมา จึงมีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายจำเลยทั้งสี่ เชื่อว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา โจทก์ทั้งสองจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ไม่มีสิทธิคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 2 และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการยกเลิกหนังสือที่ 38/2519 และให้จำเลยที่ 4 เพิกถอนที่ดินพิพาทออกจากทะเบียนที่ราชพัสดุ หากจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาฉบับนี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้น เห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 4 นำที่ดินของโจทก์ทั้งสองไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบ มิใช่เป็นเรื่องการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ 1 และที่ 4 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำให้ถูกต้องได้ โดยไม่จำต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 วรรคสอง

พิพากษายืน โดยไม่มีคำสั่งว่าให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 4

Share