แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีก่อนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ในคดีนี้ ให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนดังกล่าวมอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการบังคับคดี โดยจำเลยที่ 5 กับพวกเข้าไปในที่ดินด้านหลังอาคารแล้วรื้อถอนและขนย้ายสิ่งของอื่น ๆ อีกหลายรายการออกไปจากที่ดินพิพาทและนำแผ่นเหล็กปิดกั้นประตูด้านหลังของที่ดินโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและมีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนด้วย จึงมิใช่เรื่องที่จำเลยทั้งห้ามีเจตนาจะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายแต่เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 362, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131-1132/2544 ตามเอกสารหมาย จ.3 ว่า นายแสงดีซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือนายแสงโรจน์ (โจทก์ในคดีนี้) ผู้ซื้อตึกและที่ดิน ยังจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ไม่ต้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับใหม่ แล้วพิพากษาให้นายแสงดีปฏิบัติตามคำบังคับของศาลชั้นต้นที่ให้นายแสงดีรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกจากที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับตามเอกสารหมาย ล.5 ระบุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้ ในฐานะโจทก์ในคดีดังกล่าวขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี โดยโจทก์จะเป็นผู้นำเจ้าพนักงานยึดทรัพย์สินของจำเลยและให้จำเลยรื้อถอนและขนย้ายชั้นวางของออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในฐานะโจทก์ในคดีดังกล่าวมอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการบังคับคดี โดยจำเลยที่ 5 กับพวกเข้าไปในที่ดินด้านหลังอาคารเลขที่ 3 ถนนมหรรณพ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร แล้วรื้อถอนและขนย้ายปั๊มน้ำ กันสาด เครื่องดูดควัน อ่างล้างจานสแตนเลส ท่อน้ำทิ้ง ตู้ เตาแก๊ส สายยาง และสิ่งของอื่น ๆ อีกหลายรายการ ออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนำแผ่นเหล็กปิดกั้นประตูด้านหลังของที่ดินโดยความรู้เห็นยินยอมของเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เบญจ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจัดการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และมีอำนาจขนย้ายสิ่งของออกจากสิ่งปลูกสร้างที่มีการรื้อถอนด้วยจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยทั้งห้ามีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ และทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย แต่เป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ ที่โจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131-1132/2544 ไม่ผูกพันโจทก์และไม่สามารถบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวได้นั้น เห็นว่า ตามคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131-1132/2544 เป็นกรณีบังคับตามคำพิพากษา ซึ่งสภาพแห่งการบังคับคดีเปิดช่องให้นายแสงดีซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือโจทก์ผู้ซื้อตึกและที่ดิน ต้องปฏิบัติตามคำบังคับให้รื้อถอนขนย้ายชั้นวางของที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิใช่เป็นกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ผูกพันโจทก์หรือไม่สามารถบังคับโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ และที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131-1132/2544 จำเลยที่ 4 ในคดีนี้ฐานะเป็นโจทก์ที่ 4 ในคดีดังกล่าวและหมายบังคับคดีเอกสารหมาย ล.5 แผ่นที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นออก ระบุว่าจำเลยที่ 4 ในคดีนี้เป็นโจทก์ที่ 4 และจะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการบังคับคดี ดังนั้น จำเลยที่ 4 ในฐานะโจทก์ที่ 4 ตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาและหมายบังคับคดีดังกล่าวย่อมดำเนินการบังคับคดีได้ ส่วนการบังคับคดีจะมีผลถึงจำเลยที่ 4 หรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่งเมื่อจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 5 บังคับคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์เอกสารหมาย จ.7 จำเลยที่ 5 ย่อมดำเนินการบังคับคดีแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.