แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายและลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาอีกฉบับหนึ่ง เพราะไม่ยอมปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น สัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ดินที่จำนองตามสัญญาเป็นคนละส่วนกับสัญญาและที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละเรื่องกับที่โจทก์ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ ไม่เกิน 4,500,000บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม.อาร์.อาร์ บวก 1 ต่อปี กำหนดส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ วันสุดท้ายของเดือน และจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 26 กรกฎาคม2540 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์หักทอนบัญชีกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2543 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์จำนวน 6,519,640.44 บาท โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย นับถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 6,687,975.41 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,687,975.41 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 6,519,640.44 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้เช็คหรือหลักฐานอื่นใดเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวจำเลยที่ 1 ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ก็เพื่อจะนำไปใช้จ่ายในการทำธุรกิจหมู่บ้านจัดสรร จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อขอกู้เงินจากบริษัทเงินทุนเฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในวงเงินจำนวน 72,000,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับโอนหนี้จากบริษัทดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับโจทก์เพื่อขอให้ปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินจำนวน72,000,000 บาท เพื่อตีตราจัดสรรและจำเลยที่ 1 จะได้โอนกรรมสิทธิ์บ้าน ที่ดิน และอาคารพาณิชย์ให้ลูกค้านำเงินมาชำระให้โจทก์ แต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการให้ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ขาดประโยชน์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ1,000,000 บาท และเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เดือนละ 1,000,000 บาท กับดำเนินการลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 5 ฉบับ โดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 1 ส่วนฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม จึงไม่รับฟ้องแย้ง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า ศาลชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเดียวกันและเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม เพราะเป็นผลมาจากการที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 4,500,000 บาท โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายและลงโฆษณาขอขมาจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์ โดยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาเพราะไม่ยอมปลดจำนองที่ดินที่ได้จำนองไว้เป็นประกันการกู้เงินจำนวน 72,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายนั้น เห็นได้ว่าสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ดินที่จำนองตามสัญญาดังกล่าวเป็นคนละส่วนกับสัญญาและที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงเป็นคนละเรื่องกับที่โจทก์ฟ้อง ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฟ้องแย้งแต่ไม่ได้สั่งคืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1 จึงให้คืนแก่จำเลยที่ 1
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลในส่วนฟ้องแย้งให้จำเลยที่ 1