คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 412/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้คดีนี้และคดีก่อนมีโจทก์จำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันและคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว แต่คดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินคนใหม่ซึ่งที่ดินที่เช่านั้นมีจำเลยเข้าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีเพียงสิทธิการเช่าเท่านั้นโดยยังมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์ที่เช่า เมื่อโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ก่อนได้โดยลำพังโดยไม่เรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ทั้งห้องแถวพิพาทมิได้เป็นของโจทก์อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดีว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทในคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับกระทรวงการคลัง แต่โจทก์ไม่สามารถครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินที่เช่าได้ เพราะจำเลยครอบครองอาศัยอยู่ในบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่า โจทก์แจ้งให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 65 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนราชพัสดุที่ พช.477 ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ และให้จำเลยกับบริวารออกไปจากที่ดินดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกกระทรวงการคลังเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 214/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท คดีมีประเด็นเดียวกันกับคดีนี้และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 65 ออกไปจากที่ดินราชพัสดุทะเบียนราชพัสดุที่ พช.477 ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมนายเชียงฮ้อ แซ่โค้ว บิดาของจำเลยซึ่งเป็นปู่ของโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุจากทางราชการแล้วปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท หลังจากนายเชียงฮ้อถึงแก่ความตาย นายเชาว์ วีระพลชัย บุตรของนายเชียงฮ้อซึ่งเป็นบิดาของโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทต่อมาจนกระทั่งนายเชาว์ถึงแก่ความตายเมื่อปี 2531 จากนั้นโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ร่วม แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครองครอบและใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้เพราะจำเลยซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทไม่ยอมรื้อถอนบ้านออกไปและก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยตามคดีหมายเลขแดงที่ 214/2538 ของศาลชั้นต้นและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 214/2538 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้และคดีก่อนมีโจทก์จำเลยเป็นคู่ความรายเดียวกันและคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว แต่คดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอ้างเหตุว่าโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินคนใหม่โดยเพิ่งไปขอเช่าและทำสัญญาเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2533 ซึ่งที่ดินที่เช่าดังกล่าวมีจำเลยเข้าอาศัยอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นโจทก์จึงมีเพียงสิทธิการเช่าเท่านั้นโดยยังมิได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่เช่าดังกล่าว เมื่อโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้อาศัยอยู่ก่อนได้แต่ลำพังโดยไม่เรียกให้ผู้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ทั้งห้องแถวพิพาทมิได้เป็นของโจทก์อีกด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดีที่ว่าจำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทคดีนี้จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 214/2538 ของศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปมีว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวเมื่อนายเชียงฮ้อซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย สัญญาเช่าที่ดินพิพาทก็เป็นอันระงับไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของนายเชียงฮ้อ ที่จำเลยเบิกความอ้างว่าเมื่อนายเชียงฮ้อตาย ทายาททุกคนมอบหมายให้นายเชาว์ไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ร่วมแทนทายาททุกคนนั้น มีแต่นางยินดี มูลธิโต ซึ่งเป็นน้องของจำเลยปากเดียวเบิกความสนับสนุน สำหรับพันตำรวจตรีสุทิน วีระพลชัย ซึ่งเป็นน้องของจำเลยอีกคนหนึ่งก็เบิกความในเรื่องนี้เพียงว่าหลังจากที่บิดาถึงแก่ความตาย พี่น้องทุกคนตกลงให้นายเชาว์เป็นผู้เช่าที่ดินราชพัสดุต่อเนื่องจากเป็นพี่ชายคนโตเท่านั้น พยานปากนี้ไม่ได้เบิกความว่าพี่น้องทุกคนตกลงให้นายเชาว์เป็นผู้เช่าแทนทายาทแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีก ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ ถึงอย่างไรก็ตามเมื่อนายเชาว์ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้เข้าทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมาทั้งก่อนที่โจทก์จะทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วม ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอเช่าที่ดินพิพาทแทนนายเชาว์ผู้เช่าที่ถึงแก่กรรมต่อโจทก์ร่วม จากนั้นโจทก์ร่วมได้ออกแจ้งความเรื่องขอเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อให้ทายาทของผู้ถึงแก่กรรมหรือผู้มีสิทธิควรได้เช่าที่ดินพิพาทดีกว่าโจทก์ได้คัดค้าน และปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้มีหนังสือส่งแจ้งความดังกล่าวไปให้นายอำเภอหล่มเก่าดำเนินการปิดประกาศแจ้งความนี้ให้ทราบทั่วกัน ณ ที่ว่าการอำเภอหล่มเก่าและบริเวณที่ดินพิพาทแล้ว เอกสารดังกล่าวเป็นของทางราชการเชื่อได้ว่าได้มีการปิดประกาศแจ้งความดังกล่าวไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหล่มเก่าและบริเวณที่ดินพิพาทแล้ว เช่นนี้ น่าเชื่อว่าจำเลยซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทได้ทราบแล้วว่าโจทก์ยื่นคำขอเช่าที่ดินพิพาทต่อจากนายเชาว์ แต่จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดจนโจทก์ร่วมพิจารณาให้โจทก์เช่าที่ดินพิพาท นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในปี 2533 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดินพิพาท และจำเลยในฐานะภริยาของนายพิบูลย์ ศรีนุต ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินข้างเคียงได้ให้ถ้อยคำรับรองแนวเขตที่ดินพิพาทไว้ด้วย ประกอบกับเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2536 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้โจทก์ร่วมตรวจสอบแนวเขตที่ดินพิพาทอีกอ้างว่าเนื่องจากนางเฉลียง ศรีนุต คือจำเลยผู้เช่าที่ดินข้างเคียงกล่าวหาว่าโจทก์ปลูกสร้างบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลย ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้ไปรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาทและที่ดินข้างเคียงรวมทั้งที่ดินที่จำเลยเช่าด้วยแล้ว เชื่อว่าฝ่ายจำเลยได้ไประวังแนวเขตที่ดินดังกล่าวแล้วยิ่งทำให้น่าเชื่อว่าจำเลยทราบว่าโจทก์ไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมต่อจากนายเชาว์ดังกล่าว ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ไปทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมนั้นฟังไม่ขึ้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยเข้าอยู่ในที่ดินพิพาทโดยมิได้เช่าจากโจทก์ร่วมและเข้าอยู่โดยไม่มีสิทธิอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ร่วม ส่วนฝ่ายโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ร่วมถูกต้องมีผลผูกพันโจทก์และโจทก์ร่วมจึงฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share