แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 8 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “…ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างล้วนแต่ประกอบด้วยพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนและศาลได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักในคดีถึงที่สุดนั้นแล้วทั้งสิ้นหาใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ เหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) เท่ากับเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องมีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (3,4 เมทิลลีน ไดออกซีเมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (คีตามีน) ไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนด มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 (โคลนาซีแพม) ไว้ในครอบครอง และมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ลงโทษจำคุก 25 ปี 12 เดือน และปรับ 341,000 บาท ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืน คดีถึงที่สุด ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่อ้างว่าห้องพักเลขที่ 3/144 ชั้น 17 ที่เกิดเหตุและรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 7 ย – 6244 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ของกลางนั้นอยู่ในความครอบครองดูแลของนายดนัย และนางสาวหทัยรัตน์ ซึ่งได้เช่าห้องพักและซื้อรถยนต์กระบะดังกล่าวจากจำเลยก่อนจำเลยถูกจับกุมดำเนินคดี ไม่ใช่ภายหลังจากที่จำเลยถูกจับกุมแล้วดังที่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าและหนังสือสัญญาขายรถยนต์จำเลยจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ และหากจำเลยเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกับของกลางนั้นก็จะต้องปรากฏลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลยในวัตถุใด ๆ หรือบริเวณต่าง ๆ ที่มีการตรวจค้น นอกจากนั้นจ่าสิบตำรวจสมเจต ซึ่งได้ซุ่มดูจำเลยก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 สัปดาห์นั้นก็เบิกความว่า ไม่เคยเห็นจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่จำเลยกลับถูกเจ้าพนักงานตำรวจข่มขู่ให้รับสารภาพ จึงขอให้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า กรณีตามคำร้องของผู้ร้องไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 เห็นผู้ร้องอุทธรณ์สมควรไม่รับคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นตามมาตรา 8 ศาลชั้นต้นต้องทำการไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลอุทธรณ์นั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้วถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” เมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์จักต้องพิจารณาว่าคำร้องของผู้ร้องนั้นมีมูลพอที่จะให้รับคำร้องหรือไม่ ตามมาตรา 10 ดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างล้วนแต่ประกอบด้วยพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนและศาลได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักในคดีถึงที่สุดนั้นแล้วทั้งสิ้นหาใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ กรณีเหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) แล้วพิพากษายกคำร้องเท่ากับว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่มีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุด ตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง