คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้เอกสารท้ายฟ้องจะถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตามแต่ข้อความเอกสารท้ายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับ ร. เป็นเพียงอุทธรณ์เพิ่มเติมขอรับความเป็นธรรมกรณีโจทก์ถูกตัดโควตา ก.เท่านั้น เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าองค์ประชุมไม่ครบเพราะ ส. ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาสำหรับ ร. ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 58 วรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามวรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง”แต่ตามคำฟ้องของโจทก์และเอกสารท้ายฟ้องปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 6 ในฐานะประธานกรรมการบริหารหาได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามทราบไม่จำเลยที่ 6 เพียงแต่มีหนังสือเอกสารท้ายฟ้องแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารต่อนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลให้ทราบว่าคณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทราย และให้นำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาต่อไปเท่านั้น เห็นได้ว่าเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าว เป็นหนังสือถึงนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายหาใช่เป็นหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการบริหารต่อโจทก์ทั้งสามโดยตรงไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง แล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 58 วรรคสาม โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ปรากฏเหตุผลเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายด้วย ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การ ขณะนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย เพื่อให้ทราบปริมาณอ้อยของสมาชิกของแต่ละสถาบันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราบ พ.ศ. 2527ได้ ประกอบกับมีความจำเป็นต้องมีผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุน คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทราบ เพื่อให้คณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวสามารถดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราบ พ.ศ. 2527 ได้ไปพลางก่อน จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 จึงกำหนดระเบียบว่าด้วยการเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งแทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆดังกล่าวคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบได้เลือกจำเลยที่ 4เป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราบให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทรายโดยมีจำเลยที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้ตามเอกสารท้ายคำให้การซึ่งมีจำเลยที่ 5 คือรองอธิบดีกรมการค้าภายในผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายด้วยจึงถือได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวชอบแล้วมิได้ตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายและได้รับเลือกจากคณะกรรมการน้ำตาลทรายให้เป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจในฐานะเป็นกรรมการและเป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายส่วนกรณีที่คณะกรรมการน้ำตาลทราบได้มีมติให้ตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามเป็นกรณีที่คณะกรรมการดังกล่าวควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทราบในราชอาณาจักรตามที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราบ พ.ศ. 2527 มาตรา 42(2)บัญญัติให้คณะกรรมการน้ำตาลทราบมีหน้าที่ดังกล่าวนั่นเอง กล่าวคือมีอำนาจสั่งตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามได้ หาใช่ไม่มีอำนาจโจทก์กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการน้ำตาลทราบซึ่งมีจำเลยที่ 5เป็นประธานมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟัง ไม่ได้ว่าคณะกรรมการน้ำตาลทราบมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบ ต้องยกฟ้องโจทก์ ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น นอกจากจำเลยจะแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การ และเอกสารที่โจทก์จำเลยส่งศาลไว้ทั้งหมดแล้ว โจทก์จำเลยยังแถลงไม่ติดใจที่จะสืบพยานประกอบด้วย เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายปรากฏว่า จำเลยที่ 5 มีอำนาจตัดโควต้า ก.ของโจทก์ คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การสั่งตัดโควต้าก.ของจำเลยที่ 5 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยานกันต่อไปย่อมถือว่าโจทก์จำเลยขอปิดคดีของตนเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีให้เสร็จไปได้ ไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ไม่มีอำนาจที่จะตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามตามจำนวนน้ำตาลทราบที่สูญหาย ซึ่งเป็นการตัดโควต้าที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือระเบียบรองรับ ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่อาจนำน้ำตาลทรายดังกล่าวออกขายได้ในท้องตลาดตลอดไป โจทก์ที่ 3 ในฐานะนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลมีหนังสือขอรับความเป็นธรรมถึงจำเลยที่ 6 ต่อมาจำเลยที่ 6 แจ้งให้โจทก์ทั้งสามทราบโดยหนังสือที่ 440/2530 ลงวันที่ 15 มกราคม 2530ว่า คณะกรรมการบริหารในคราว ประชุมครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 ได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวแล้ว มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทรายและให้นำมติของคณะกรรมการบริหารเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายต่อไป โจทก์ทั้งสามไม่เห็นชอบด้วยกับมติของจำเลยที่ 6 กับพวกจึงอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 4 ขอให้จำเลยที่ 4 กับพวกพิจารณาเพิกถอนมติหรือคำสั่งของจำเลยที่ 5 ที่ 6จำเลยที่ 4 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม การที่จำเลยร่วมกันปล่อยปละละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมของจำเลยที่ 5 กับพวกและให้เพิกถอนคำสั่งหรือประกาศแต่งตั้งจำเลยที่ 5 ที่ 6 กับพวก
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ 4 รวมทั้งจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อย และคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยและหรือผู้แทนโรงงานเข้าร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการ และจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ดังกล่าวเป็นการชอบแล้วที่จำเลยที่ 5 ใช้อำนาจตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามนั้นจำเลยที่ 5 กระทำโดยสุจริตชอบด้วยเหตุผลและกฎหมาย จำเลยที่ 6ไม่เคยใช้อำนาจสั่งตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามการโต้แย้งสิทธิระหว่างจำเลยที่ 6 กับโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้เกิดขึ้นจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการที่วางไว้โดยสุจริต โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับองค์ประชุมของคณะกรรมการการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 1/2530 และมิได้วินิจฉัยปัญหาว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 58 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามในข้อ 2.3 และข้อ 2.4 โจทก์ทั้งสามได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้นด้วยจึงมีปัญหาที่ศาลอุทธรณ์จะต้องวินิจฉัยให้การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยโดยไม่ปรากฏเหตุผล เป็นการไม่ชอบแต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ปัญหาประการแรกเกี่ยวกับองค์ประชุมนั้น โจทก์อุทธรณ์ว่า สำหรับพันตรีรังสรรค์ ประดิษฐพงศ์ ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16มีข้อความว่า พันตรีรังสรรค์ได้เข้าประชุมแทนนายพชร นายรังสรรค์มีฐานะไม่ผิดไปจากผู้เข้าฟังการประชุมเท่านั้น การเข้าฟังการประชุมไม่อาจมอบหมายหรือมอบอำนาจ ไม่อาจออกความเห็นหรืออภิปรายได้ เว้นแต่ประธานที่ประชุมจะอนุญาตให้อภิปรายได้อันเป็นกิจเฉพาะตัว แต่พันตรีรังสรรค์ได้กระทำการเป็นกรรมการออกความเห็นโน้มน้าว ที่ประชุมโดยอาศัยที่ตนเองเป็นประธานกรรมการน้ำตาลทราย และได้ร่วมลงมติโดยประธานคณะกรรมการบริหารไม่ได้ทักท้วง ซึ่งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16 นี้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสำหรับพันตรีรังสรรค์ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จึงไม่วินิจฉัยให้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16จะถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 16นั้น เป็นเพียงอุทธรณ์เพิ่มเติมขอรับความเป็นธรรมกรณีโจทก์ทั้งสามถูกตัดโควต้า ก. เท่านั้น เมื่อคำฟ้องโจทก์บรรยายแต่เพียงว่าองค์ประชุมไม่ครบเพราะนายสรวง เรืองศุข ลาออกจากการเป็นกรรมการไปแล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาสำหรับพันตรีรังสรรค์ได้ สำหรับปัญหาประการที่สองที่ว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 58 วรรคสาม นั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527มาตรา 58 วรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามวรรคหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวให้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับคำสั่ง”แต่ตามคำฟ้องของโจทก์และเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 6 ในฐานะประธานกรรมการบริหารหาได้แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามทราบไม่จำเลยที่ 6เพียงแต่มีหนังสือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14 แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในคราวประชุมครั้งที่ 1/2530 ต่อนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลให้ทราบว่า คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคำขออุทธรณ์ของสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการน้ำตาลทราบ และให้นำเสนอคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายพิจารณาต่อไปเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14ดังกล่าว เป็นหนังสือถึงนายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย หาใช่เป็นหนังสือแจ้งคำสั่งของคณะกรรมการบริหารต่อโจทก์ทั้งสามโดยตรงไม่จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามได้รับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตามมาตรา 58 วรรคสาม
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามในประการต่อไปมีว่า คณะกรรมการน้ำตาลทราบซึ่งมีจำเลยที่ 5เป็นประธานมีอำนาจสั่งให้ตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ และคำสั่งให้ตัดโควต้าก. ของโจทก์ทั้งสามนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 3 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการในคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายด้วยปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การเอกสารหมายเลข 1, 2 และ 3ขณะนั้นยังไม่มีการจดทะเบียนสถาบันชาวไร่อ้อย ชาวไร่อ้อยและหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยเพื่อให้ทราบปริมาณอ้อยของสมาชิกของแต่ละสถาบัน ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ.2527 ได้ ประกอบกับมีความจำเป็นต้องมีผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการบริหารกองทุนคณะกรรมการอ้อยและคณะกรรมการน้ำตาลทราบ เพื่อให้คณะกรรมการต่าง ๆดังกล่าวสามารถดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ได้ไปพลางก่อนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงกำหนดระเบียบว่าด้วยการเสนอผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 4 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจแต่งตั้งผู้แทนชาวไร่อ้อยในคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าว คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้เลือกจำเลยที่ 4 เป็นประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย และโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและนำ้ตาลทรายให้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการอ้อยและคณะกรรมการน้ำตาลทราย โดยมีจำเลยที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไว้ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5, 6และ 7 ซึ่งมีจำเลยที่ 5 คือรองอธิบดีกรมการค้าภายในผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายด้วยปรากฏตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 7 จึงถือได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวชอบแล้ว มิได้ตกเป็นโมฆะดังฎีกาของโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการน้ำตาลทรายและได้รับเลือกจากคณะกรรมการน้ำตาลทรายให้เป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายจึงมีอำนาจในฐานะเป็นกรรมการและเป็นประธานคณะกรรมการน้ำตาลทรายส่วนกรณีที่คณะกรรมการน้ำตาลทรายในคราวประชุมครั้งที่ 42/2529เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2529 ได้มีมติให้ตัดโควต้า ก.ของโจทก์ทั้งสาม ก็เป็นกรณีที่คณะกรรมการดังกล่าวควบคุมการจำหน่ายน้ำตาลทรายในราชอาณาจักรตามที่พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 42(2)บัญญัติให้คณะกรรมการน้ำตาลทรายมีหน้าที่ดังกล่าวนั่นเอง กล่าวคือมีอำนาจสั่งตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามได้ หาใช่ไม่มีอำนาจดังฎีกาของโจทก์ทั้งสามไม่ และเห็นว่าคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีมติให้ตัดโควต้า ก. ของโจทก์ทั้งสามตามจำนวนน้ำตาลทรายที่สูญหายไปเท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 5 ก็ให้การว่า มีมติดังกล่าวโดยสุจริตชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายแล้ว ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศและคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยในด้านการผลิตและจำหน่ายและให้เกิดความเป็นธรรมแก่โรงงานและผู้บริโภค ฯลฯ กล่าวคือมีมติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาตรา 6และมาตรา 42(2) นั่นเอง โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างว่าคณะกรรมการน้ำตาลทรายซึ่งมีจำเลยที่ 5 เป็นประธานมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบ และจำเลยที่ 5 ให้การปฏิเสธภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ทั้งสาม เมื่อโจทก์ทั้งสามแถลงไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการน้ำตาลทรายมีมติดังกล่าวโดยไม่ชอบจึงต้องยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ทั้งสามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่งที่โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในส่วนของคณะกรรมการน้ำตาลทรายคณะกรรมการบริการ และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายว่ามีอำนาจสั่งตัดโควต้าก. ของโจทก์และกระทำโดยชอบหรือไม่จึงไม่เกี่ยวกับว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ก่อน และเป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาว่าสมควรจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาดังกล่าวหรือไม่ และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 มิได้บังคับว่าศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดให้ตามคำขอทุกเรื่องหากศาลเห็นว่าการวินิจฉัยชี้ขาดไม่เป็นคุณแก่โจทก์หรือเห็นว่าจะต้องดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้ว จะสั่งให้รอไว้วินิจฉัยในคำพิพากษาก็ได้นั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2530 นอกจากโจทก์จำเลยจะแถลงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายโดยพิจารณาจากคำฟ้องคำให้การ และเอกสารที่โจทก์จำเลยส่งศาลไว้ทั้งหมดแล้วโจทก์จำเลยยังแถลงไม่ติดใจที่จะสืบพยานประกอบด้วย ดังนั้น เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายปรากฏว่า จำเลยที่ 5 มีอำนาจตัดโควต้าก.ของโจทก์ คดีจึง มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การสั่งตัดโควต้าก. ของจำเลยที่ 5 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อโจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยานกันต่อไป ย่อมถือว่าโจทก์จำเลยขอปิดคดีของตนเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะวินิจฉัยคดีให้เสร็จไปได้ ไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป
พิพากษายืน

Share