คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หญิงมีสามีเข้าค้ำประกันหนี้ ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏว่าจะผูกพันสินบริคณห์หรือไม่ หญิงมีสามีจึงทำได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตของสามี
ลูกหนี้ยอมให้เจ้าหนี้หักเงินเดือนผ่อนใช้หนี้ละเมิดไม่เป็นการผ่อนเวลาอันจะทำให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดเพราะไม่มีกำหนดแน่นอนว่าต้องชำระหนี้เมื่อใด
ลูกจ้างผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์ ยอมให้ลูกจ้างอีกคนหนึ่งซึ่งไม่มีหน้าที่และไม่มีใบอนุญาตขับรถจนชนกำแพงเสียหายขึ้น นายจ้างต้องออกเงินใช้ค่าซ่อมแซมไปแทนลูกจ้าง ดังนี้ เป็นผลจากการกระทำของลูกจ้างผู้มีหน้าที่ขับรถ ผู้ค้ำประกันของลูกจ้างนั้นต่อนายจ้างต้องรับผิด

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1-2 เป็นลูกจ้างของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 2 มีหน้าที่เป็นภารโรง ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ถ้าจำเลยที่ 1 กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความเสียหายแก่ราชการแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้นั้น จำเลยที่ 3 ยอมชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2497 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของโจทก์คันหมายเลข ก.ท.31754 ไปในถนนหลวงในขณะที่จำเลยที่ 1 เสพย์สุราจนหย่อนความสามารถในการขับรถแล้วจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งไปในรถยนต์กับจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ขับรถแทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นั่งควบคุมอยู่จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ของโจทก์ได้ขับรถยนต์ของโจทก์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง อันควรเป็นวิสัยของผู้ขับรถกล่าวคือ จำเลยที่ 2 ไม่มีความสามารถในการขับรถ และไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้ทำการขับรถ และได้เสพย์สุราจนหย่อนความสามารถในการขับรถ และได้ทำการฝึกหัดขับรถ เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ฝึกหัดขับนั้นชนกำแพงของกรมกสิกรรมเสียหาย เป็นเงิน4,000 บาท รถยนต์ของโจทก์เสียหายต้องเสียค่าซ่อมแซมเป็นเงิน 14,950 บาท โจทก์ได้จ่ายเงินค่าซ่อมกำแพง และค่าซ่อมรถไปแล้วเป็นเงิน18,950 บาท จำเลยที่ 1-2 ได้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว 950 บาท ยังเหลือเงินที่จะต้องชำระอีก 18,000 บาทแต่จำเลยที่ 1-2 ไม่ชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ ๆ ได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 นำเงิน 18,000 บาท มาชำระแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 3ไม่ยอมชำระเงิน จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้ง 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงิน 18,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมค่าทนายแทนโจทก์ด้วย

จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด ศาลได้ยืดเวลายื่นคำให้การให้แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การรับว่า ฟ้องของโจทก์เป็นความจริง แต่ที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ก็เพราะ โจทก์ให้จำเลยออกจากราชการจำเลยจึงไม่มีทรัพย์จะใช้หนี้รายนี้ได้

จำเลยที่ 3 ให้การและเพิ่มเติมคำให้การรับว่าได้เซ็นสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องจริงแต่ต่อสู้ว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญานั้นโดยเหตุหลายประการ คือ

1. สัญญาค้ำประกันนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะจำเลยเป็นหญิงมีสามีมิได้รับอนุญาตหรือรับความยินยอมจากสามีให้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ สามีจำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาค้ำประกันไปยังโจทก์แล้ว

2. เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ใช้กลฉ้อฉลให้จำเลยเซ็นสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่า ที่ประชุมของกรมตกลงจะประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 จะขับไว้กับบริษัทประกันภัยแล้ว แม้จำเลยเซ็นค้ำประกันก็จะไม่ต้องรับผิดชอบอย่างใด และว่าทางราชการต้องการคนขับรถจำเลยจึงยอมเซ็นค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไป ต่อต่อมาโจทก์เพิกเฉยไม่ค้ำประกันภัยรถยนต์ตามที่ตกลงไว้ ซึ่งเป็นสารสำคัญในการที่จำเลยยอมเป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิด

3. สัญญาค้ำประกันเป็นโมฆะ เพราะโจทก์หรือเจ้าหน้าที่ของโจทก์รู้ดีว่า ใจจริงของจำเลยมิได้มีเจตนาให้ตนต้องผูกพันตามสัญญานั้น แต่เซ็นไปเพื่อให้ครบรูปของทางราชการในเรื่องรับสมัครเจ้าหน้าที่ของโจทก์ขอร้องให้ช่วยเซ็น มิได้กระทำไปด้วยใจสมัคร

4. ความเสียหายที่เกิดขึ้น เกิดจากจำเลยที่ 2 มิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ที่จำเลยค้ำประกันไว้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

5. โจทก์ไม่แจ้งถึงความเสียหายให้จำเลยทราบทันที กลับไปตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเสียหายโดยการหักเงินเดือน และโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1-2 ทำงานเป็นลูกจ้างต่อไป แต่ต้องหักเงินเดือนไว้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่แล้วโจทก์กลับสั่งปลดจำเลยที่ 1-2 เสียไม่ทำตามข้อตกลง เป็นการขัดขวางแก่การเอาชำระหนี้จากจำเลยที่ 1-2 จำเลยที่ 1-2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดต่อโจทก์จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันจึงพ้นความรับผิดชอบด้วย

นอกจากนี้ จำเลยยังต่อสู้อีกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์มิได้เสียหายจริงดังฟ้อง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมและฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ขับรถยนต์ได้ยอมให้จำเลยที่ 2 ทำการขับรถยนต์ในเวลาเมาสุรา และไม่มีใบอนุญาตขับขี่ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่ขับชนกำแพงกรมกสิกรรมเสียหายคิดเป็นเงิน 4,000 บาท และรถยนต์ของโจทก์ก็เสียหายต้องเสียค่าซ่อม 14,950 บาท โจทก์ได้ใช้เงินทั้งหมดนี้ไปแล้วจำเลยที่ 1-2 ยอมให้หักเงินเดือนผ่อนชำระให้ แต่ชำระได้เพียง 950 บาทคงค้างอีก 18,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1-2 จะต้องใช้ให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้เซ็นสัญญาค้ำประกันด้วยใจสมัคร ทั้งรู้ดีแล้วว่ารถยนต์คันนี้ยังมิได้เอาประกันภัยไว้เพราะยังไม่มีเงินเสียค่าประกันภัยจำเลยที่ 3 ทราบดี แล้วจึงอ้างเหตุนี้มาแก้ตัวว่าสัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์ไม่ได้ ข้อที่ว่าสามีมิได้อนุญาตหรือยินยอมให้ทำสัญญาค้ำประกันและสามีได้บอกล้างแล้วนั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า สัญญาชนิดนี้จำเลยที่ 3 มีอำนาจกระทำได้ ไม่จำต้องรับอนุญาตหรือรับความยินยอมจากสามี ข้อที่อ้างว่าความเสียหายเกิดจากจำเลยที่ 2 นั้นก็เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ ส่วนข้อที่อ้างว่าจำเลยที่ 1-2 หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะโจทก์ขัดขวางต่อการเอาชำระหนี้นั้นก็หาหลุดพ้นไม่ เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะไม่จ้างจำเลยที่ 1-2 ได้ ไม่ใช่เป็นการขัดขวางการชำระหนี้ จำเลยที่ 3 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้ จึงพิพากษาให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันใช้เงิน 18,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จให้โจทก์

จำเลยที่ 3 ผู้เดียวอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์ของกรมวิชาการ จำเลยที่ 2 เป็นภารโรงในกรมเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นข้าราชการสังกัดกรมวิสามัญศึกษา แต่ทางการได้โอนจำเลยที่ 3 มาทำงานอยู่ในกองเผยแพร่การศึกษากรมวิชาการชั่วคราวจำเลยที่ 1 มาสมัครงานเป็นคนขับรถของกรมวิชาการเมื่อก่อนเกิดเหตุ 3-4 เดือนตามระเบียบของราชการจะต้องมีผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้ขอให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันให้จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ใช้รถยนต์คันที่เสียหายนี้ในการปฏิบัติราชการเกี่ยวแก่การจัดรายการวิทยุศึกษาเมื่อจำเลยที่ 1 ขอร้องให้เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ก้ได้ไปขอคำปรึกษาจากนางอัมพร มีศุข หัวหน้ากองว่าควรจะประกันหรือไม่นางอัมพรให้คำแนะนำว่าไม่ควรเซ็นนอกจากรถยนต์คันนั้นจะมีประกันในขณะนั้นที่ประชุมหัวหน้ากองในกรมวิชาการได้มีมติว่าควรประกันภัยรถยนต์คันนี้เหมือนกัน แต่ยังไม่มีเงินค่าธรรมเนียม จึงยังมิได้จัดการประกัน แต่ข้อประชุมนี้เป็นความลับในราชการซึ่งจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่จะทราบ แต่จำเลยที่ 3 ได้ทราบข้อประชุมนี้มาจากทางใดไม่ปรากฏ จำเลยที่ 3 จึงเซ็นสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2497 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์เลขที่ 31754 ของกรมวิชาการที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นผู้ขับนี้ไปในหน้าที่ราชการเพื่อไปรับเจ้าหน้าที่วิทยุศึกษา จำเลยที่ 1 ได้ชวนจำเลยที่ 2 ไปด้วย ระหว่างทาง จำเลยที่ 1-2 ได้ไปเสพย์สุราจนมึนเมา แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขอเป็นผู้ขับรถบ้าง จำเลยที่ 1 ก็อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ขับ โดยจำเลยที่ 1 นั่งควบคุมไป จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ขับรถเลย เมื่อจำเลยที่ 2 ขับรถมาตามทางนั้น จำเลยที่ 2 ขับด้วยความเร็วและส่ายไปส่ายมา ในที่สุดได้ขับขึ้นไปบนทางเท้าแล้วชนกำแพงของกรมกสิกรรมพัง ตำรวจได้จับจำเลยทั้ง 2 ไปสอบสวนและเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ฐานยินยอมให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตขับรถส่วนจำเลยที่ 2 ถูกส่งตัวไปฟ้องยังศาลแขวงพระนครเหนือศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ไปแล้ว ส่วนกำแพงกรมกสิกรรมที่พังนั้น กรมกสิกรรมได้ขอให้กรมวิชาการซ่อมให้จำเลยที่ 1-2 ได้หาช่างมาซ่อมกำแพงสิ้นเงิน 4,000 บาท แต่จำเลยที่ 1-2 ไม่มีเงินให้ กรมวิชาการจึงต้องออกเงินให้ไปก่อน ส่วนรถที่ชนนั้นก็ได้รับความเสียหายมาก กรมวิชาการได้ให้โรงเรียนช่างกลปทุมวันเป็นผู้ซ่อม ต้องเสียค่าซ่อมไป 14,950 บาท ต่อมากรมวิชาการได้ตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนตัวผู้รับผิดชอบในการนี้ จำเลยที่ 1-2 ได้ยินยอมที่จะให้กรมวิชาการหักเงินเดือนใช้ แต่เมื่อหักเงินเดือนผ่อนใช้ได้เพียง 950 บาท จำเลยที่ 1-2 ก็ถูกสั่งให้ออกจากราชการจำเลยที่ 1-2 จึงไม่ได้ชำระเงินที่ยังค้างอยู่ โจทก์จึงเรียกให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน จำเลยที่ 3 ปฏิเสธความรับผิด กรมวิชาการจึงต้องฟ้องร้องเป็นคดีนี้

ต่อไปนี้จะได้วินิจฉัยข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาโต้เถียงมาเป็นลำดับไป คือ

1. จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรค 2 บังคับไว้ว่า “คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น” ฟ้องโจทก์ในคดีนี้ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ไม่เห็นมีอะไรที่เคลือบคลุมอยู่อีกข้อคัดค้านของจำเลยจึงตกไป

2. จำเลยฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันไม่สมบูรณ์เพราะกลฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ และจำเลยมิได้รับอนุญาตหรือรับความยินยอมของสามีในข้อที่จำเลยอ้างว่า จำเลยเซ็นสัญญาเพราะกลฉ้อฉลโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์ว่าจะประกันภัยรถยนต์ แต่แล้วก็ไม่ประกันนั้นเห็นว่า จำเลยเซ็นสัญญาโดยความสมัครใจเพื่อให้ได้มีคนขับรถให้จำเลยใช้ ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าขณะนั้นรถยังไม่มีประกันภัย จะว่าจำเลยถูกกลฉ้อฉลอย่างไร การที่ทางการตกลงไว้ว่าจะเอาประกันภัยรถยนต์นั้นก็เป็นความลับของราชการอันจำเลยไม่มีหน้าที่รู้จำเลยไปแอบรู้มาแล้วหวังเอาเองว่าจำเลยอาจไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหาย เพราะจะมีบริษัทประกันรับแทนนั้น เป็นการเสี่ยงอันตรายของจำเลยเอง หาใช่กลฉ้อฉลอะไรไม่

ข้อที่ว่า สามี จำเลยไม่ได้อนุญาตหรือไม่ได้ยินยอมให้จำเลยทำสัญญาค้ำประกันนั้น ข้อนี้เห็นว่า หญิงมีสามีนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับสินส่วนตัวย่อมมีฐานะอย่างบุคคลผู้บรรลุนิติภาวะทั้งหลายสัญญาค้ำประกันบุคคลที่เข้ารับราชการ ที่จำเลยทำไปนั้นในชั้นนี้ยังไม่ชัดแจ้งว่าจะผูกพันสินบริคณห์หรือไม่ ฉะนั้น สัญญาค้ำประกันจำเลยจึงทำได้อย่างบุคคลธรรมดา ไม่จำต้องรับความยินยอมหรือรับอนุญาตจากสามี

3. ที่จำเลยว่า จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเพราะโจทก์ได้ผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ โดยโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1-2 ให้จำเลยที่ 1-2 หักเงินเดือนผ่อนใช้หนี้แล้วโจทก์กลับสั่งให้ จำเลยที่ 1-2 ออกจากราชการไปเสียนั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผ่อนเวลาชำระหนี้เพราะไม่ได้มีกำหนดแน่นอนว่าต้องชำระหนี้เมื่อนั้นเมื่อนี่ จำเลยที่ 3 จึงยังไม่หลุดพ้นความรับผิด

4. จำเลยฎีกาเถียงว่า ความเสียหายในเรื่องนี้มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อันจำเลยที่ 3 ค้ำประกันไว้ แต่เกิดจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์เอง ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถยนต์คันนั้น จำเลยที่ 2เป็นภารโรงไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์ การที่จำเลยที่ 2 จะนำรถยนต์ไปชนก็เพราะจำเลยที่ 1 ชวนไปด้วย และอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับทั้ง ๆ ที่ จำเลยที่ 2 ไม่มีใบอนุญาตให้ขับ เพราะฉะนั้น ความเสียหายนี้จึงเกิดเพราะจำเลยที่ 1 นั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงหาพ้นความรับผิดไปได้ไม่

5. ที่จำเลยคัดค้านว่าค่าเสียหายสูงเกินไปนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องค่าเสียหายนี้ โจทก์มีพยานสืบสมว่า ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมกำแพงไป 4,000 บาท ค่าซ่อมรถ 14,950 บาท จำเลยหามีพยานสืบหักล้างไม่จึงต้องฟังว่าโจทก์เสียหายไปจริงตามที่นำสืบได้

อนึ่ง ที่จำเลยว่าค่าซ่อมแซมกำแพงนั้น จำเลยที่ 1-2 เป็นผู้หาช่างมาซ่อม นับว่าจำเลยที่ 1-2 ได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วการที่โจทก์ออกเงินแทนจำเลยที่ 1-2 ไปจึงเป็นมูลหนี้เกิดขึ้นใหม่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดนั้น ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่าการที่รถชนกำแพงกรมกสิกรรมเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในหน้าที่ซึ่งโจทก์จำต้องรับผิดชอบแทนลูกจ้างของโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1-2 ไปหาช่างมาซ่อมกำแพงแล้วไม่มีค่าจ้างจะจ่ายให้ โจทก์จึงต้องออกแทนไปให้เพราะเป็นเรื่องอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ ฉะนั้น จึงเป็นความเสียหายที่โจทก์ต้องได้รับเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบตามสัญญาค้ำประกัน

โดยข้อวินิจฉัยดังกล่าวมา ฎีกาจำเลยที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น

ฉะนั้น จึงพิพากษายืนให้จำเลยที่ 3 เสียค่าทนายชั้นฎีกาแทนโจทก์อีก 150 บาท

Share