คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงตามสัญญาและข้อบังคับของจำเลยมิได้มีข้อกำหนดว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงจะทำการสมรสมิได้หรือหากตั้งครรภ์ต้องออกจากงานการที่จำเลยได้ออกข้อบังคับในเวลาต่อมาว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเมื่อตั้งครรภ์แล้วให้ออกจากงานเป็นการเพิ่มเหตุให้ออกจากงานไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างในตำแหน่งนี้จำเลยออกข้อบังคับมาเองโดยมิได้มีข้อเรียกร้องของฝ่ายใดจึงไม่อาจใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา20เมื่อระหว่างเป็นลูกจ้างในตำแหน่งดังกล่าวโจทก์ทำการสมรสและต่อมาตั้งครรภ์จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ตั้งครรภ์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชยให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หากไม่รับกลับเข้าทำงานก็ให้จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตามสัญญาจ้าง จะครบสัญญาจ้างเมื่อโจทก์มีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ อันเป็นสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาและมีคุณสมบัติอันสำคัญคือต้องเป็นโสด ในปี พ.ศ. 2525 จำเลยได้แก้ไขข้อบังคับว่า อนุญาตให้ทำการสมรสได้เมื่อได้รับการบรรจุมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อตั้งครรภ์ให้ออกจากงาน โจทก์สมรสเมื่อกลางปี พ.ศ. 2528 ต่อมาโจทก์ตั้งครรภ์ต้องลาออกจากงานตามข้อบังคับเมื่อโจทก์เพิกเฉยจำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยหรือเงินประเภทใด ๆ จากจำเลยเพราะเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาและข้อบังคับมิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยประกาศรับสมัครพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิง จำเลยก็ได้กำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นโสดเมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยตามสัญญาจ้าง ก็มีข้อบังคับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัดว่าด้วยพนักงานและการทำงาน พ.ศ. 2520 ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยแก้ไขข้อบังคับ (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2525 ให้ลูกจ้างออกจากงานเมื่อตั้งครรภ์ แทนที่จะให้ออกเมื่อทำการสมรสจึงเป็นคุณแก่โจทก์จึงใช้บังคับได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามประกาศบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด เรื่อง รับสมัครพนักงาน ตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำให้การได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ 2 ว่า ผู้สมัครต้องเป็นโสดก็ตามแต่เมื่อจำเลยรับโจทก์เป็นลูกจ้างโดยได้ทำสัญญากันไว้ตามสัญญาเพื่อทำงานกับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงลงวันที่ 9 ตุลาคม 2521 เอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การ และข้อบังคับของบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ว่าด้วยพนักงานและการทำงาน พ.ศ. 2520 ก็มิได้มีข้อกำหนดว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงจะทำการสมรสมิด้หรือหากทำการสมรสจะต้องถูกออกจากงาน ทั้งตามข้อบังคับดังกล่าวในข้อ 42.1เรื่องการสั่งให้ออกจากงาน ข้อ 42.2 การสั่งปลดออกจากงาน หรือข้อ 42.3 การสั่งไล่ออกจากงาน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2525 ก็มิได้มีข้อกำหนดว่าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเมื่อตั้งครรภ์ต้องออกจากงานด้วย ดังนั้นที่จำเลยได้ออกข้อบังคับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ว่าด้วยพนักงานและการทำงาน(ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2525 ข้อ 4 ให้เพิ่มความเป็นข้อ 41.1.9 ในข้อ 41.1 ของข้อบังคับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ว่าด้วยพนักงานและการทำงาน พ.ศ. 2520 แก้ไขโดยข้อบังคับบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ว่าด้วยพนักงานและการทำงาน(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2525 เป็นว่า่ “41.1.9 พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงเมื่อตั้งครรภ์แล้วให้ออกจากงาน ยกเว้นผู้มีความประพฤติดีและมีความรู้ความสามารถตามที่บริษัทฯ ต้องการ บริษัทฯ จะพิจารณาย้ายให้ไปปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ว่างตามความเหมาะสมและให้ได้เงินเดืนตามเกณฑ์และเงื่อนไขของบริษัทถ้าไม่มีตำแหน่งว่างก็ต้องออกไป” การเพิ่มเหตุให้ออกจากงานตามข้อนี้จึงไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหญิงแต่อย่างใดเมื่อจำเลยได้ออกข้อบังคับข้อนี้มาเองโดยมิได้มีข้อเรียกร้องของฝ่ายใด เช่นนี้จึงไม่อาจใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ พิพากษายืน

Share