คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4084/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 และฉบับที่ 135ใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไป และระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว เมื่อการเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถในขณะขับรถไม่อาจ ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจสั่งให้พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้อยู่ในตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57 และ 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ และ 157 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 พักการใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 และ 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ และ 157 ทวิ (ที่ถูกเป็นมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 ทวิ วรรคหนึ่ง) เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก1 ปีและปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือน ต่อครั้ง กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12ชั่วโมง ภายในกำหนด 1 ปี ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษสารระเหย และวัตถุออกฤทธิ์ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 พักการใช้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติของจำเลย และไม่พักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กับให้ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งและ 157 ทวิ วรรคหนึ่ง อยู่หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า แม้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539)และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) มีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนมิใช่วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และเปลี่ยนไปเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนยังคงเป็นกลุ่มแอมเฟตามีนอย่างหนึ่ง ผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าสู่ร่างกายยังต้องมีความผิดตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง ทั้งประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับไม่อาจมีผลถึงกับยกเลิกความผิดดังกล่าว เห็นว่าพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา”แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับวัตถุออกฤทธิ์เข้าร่างกายเท่านั้น มิได้ประสงค์ที่จะเอาผิดและลงโทษผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เข้าร่างกายด้วย ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้” แสดงว่าหากไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ย่อมไม่อาจลงโทษบุคคลใดสำหรับการกระทำนั้นได้ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าขณะที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 97 (พ.ศ. 2539) และฉบับที่ 135 (พ.ศ. 2539) ออกมาใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งมีผลทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อีกต่อไปและระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนจึงเป็นการกระทำที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวและไม่อาจลงโทษจำเลยและมีคำสั่งให้พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของจำเลยตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้ กรณีนี้มิได้เป็นเรื่องที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับยกเลิกความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด เนื่องจากความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวยังคงมีอยู่มิได้ถูกยกเลิกไป กล่าวคือผู้ขับขี่ที่เสพหรือรับเข้าร่างกายซึ่งวัตถุออกฤทธิ์กลุ่มแอมเฟตามีนอื่นนอกจากเมทแอมเฟตามีนหรือวัตถุออกฤทธิ์อย่างอื่นที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดยังคงต้องมีความผิดตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว อีกทั้งการเสพเมทแอมเฟตามีนก็ยังคงเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ มิได้ถูกยกเลิกไปโดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับดังกล่าวเช่นกัน กล่าวคือ แม้การเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถจะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 157 ทวิ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกเพียงไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อไปแต่การกระทำดังกล่าวก็ยังเป็นความผิดตามกฎหมายโดยกลายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57 และ 91 ซึ่งมีระวางโทษหนักกว่า โดยกฎหมายกำหนดโทษจำคุกไว้ตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ซึ่งเดิมการเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 แต่อย่างใด แสดงว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะลงโทษผู้เสพเมทแอมเฟตามีนให้หนักขึ้นไม่ว่าผู้เสพเมทแอมเฟตามีนจะเป็นผู้ขับรถหรือไม่ก็ตามทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102( 3 ทวิ) ซึ่งเอาผิดกับผู้ขับรถที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษในขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถอีกบทหนึ่ง นอกจากนี้พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3 ตรี)ยังเอาผิดกับผู้ขับรถที่เสพวัตถุออกฤทธิ์ด้วย บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวยิ่งทำให้เห็นชัดขึ้นว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองฉบับดังกล่าวมาใช้บังคับมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะให้การเสพเมทแอมเฟตามีนยังคงเป็นความผิดต่อไปตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ส่วนการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ไม่ใช่โทษตามกฎหมาย เมื่อการเสพเมทแอมเฟตามีนของผู้ขับรถในขณะขับรถไม่อาจถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง กรณีย่อมไม่อาจสั่งให้พักหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ได้อยู่ในตัว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง และ 157 วรรคหนึ่ง จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมาสูงเกินไป สมควรกำหนดใหม่ให้เหมาะสมกับรูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือนจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share