คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4083/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 50(1) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) หักภาษี ณที่จ่ายโดยวิธีคูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายเพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีเท่าใดให้หารด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่ายได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักภาษีไว้เท่านั้นดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีโดยใช้สูตรสำเร็จของกรมสรรพากรตามคำสั่งของกรมสรรพากรที่ ป. 2/2526 ซึ่งระบุวิธีคำนวณแตกต่างไปจากบทบัญญัติ ดังกล่าว และได้ตัวเลขแตกต่างกันโดยไม่มีกฎหมายอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ การประเมินโดยวิธีการตามคำสั่งนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาที่ว่าโจทก์ร้องขอให้กรมสรรพากรคืนเงินภาษีที่ชำระเกินไปคืนเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การขอคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระเกินไปคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 นั้น เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินภาษีอากรแล้ว โจทก์ก็ไม่จำต้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานประเมินแต่โจทก์มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไป ตามบทมาตราดังกล่าวได้ดังนั้น การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินภาษีอากรขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินและให้เครดิตภาษีตามจำนวนที่โจทก์ชำระเกินไปในปี พ.ศ. 2526 ให้โจทก์ และจำเลยได้รับอุทธรณ์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 จึงเป็นการร้องขอให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ 30ธันวาคม 2526 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งปีซึ่งถูกหักภาษีเกินไปแล้วโจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าภาษีอากรที่ชำระเกินคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มรวม2,234,064.28 บาท โดยอ้างว่าโจทก์จ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าและค่าโทรศัพท์อันเป็นประโยชน์เพิ่มแก่นายเอฟ.ซี.ปลังเกตต์แต่โจทก์มิได้นำประโยชน์เพิ่มไปรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525-2526 นอกจากนี้ยังอ้างว่าโจทก์ได้ออกเงินค่าภาษีให้แก่บุคคลดังกล่าวและนำมารวมคำนวณภาษีแต่นำส่งไว้ไม่ถูกต้องและการที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีโดยคำนวณตามวิธีสูตรสำเร็จของจำเลยแบบทศนิยมไม่รู้จบก่อนที่จะมีพระราชกำหนดแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2527 เป็นการไม่ชอบ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะแม้จะนำเงินค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์มารวมคำนวณแล้วก็ยังปรากฏว่าโจทก์ชำระค่าภาษีเกินไป 747,465.16 บาท ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์จำเลยให้การว่า การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายถือหลักปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.2/2526 ข้อ 2(1) และโดยอาศัยอำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มพร้อมทั้งเงินเพิ่ม การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและให้จำเลยคืนเงินจำนวน 747,465.14 บาทแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายเอฟ.ซี.ปลังเกตต์ เป็นลูกจ้างของโจทก์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และได้ออกจากงานเมื่อปี พ.ศ. 2526 รวมระยะเวลาทำงานที่บริษัทโจทก์ 22 ปี เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2525 และปีพ.ศ. 2526 โจทก์ได้จ่ายเงินเดือน โบนัส และนอกจากนี้โจทก์ยังได้ให้บุคคลดังกล่าวได้อยู่บ้านโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า ทั้งยังได้ออกค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์และค่าภาษีที่บุคคลดังกล่าวต้องชำระให้อีกด้วยในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินดังกล่าวข้างต้นและนำส่งต่อเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรนั้นโจทก์ไม่ได้นำเอาผลประโยชน์เพิ่มคือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ที่โจทก์จ่ายในปี พ.ศ. 2525 และปี พ.ศ. 2526 มารวมคำนวณสำหรับคิดเงินค่าภาษีแต่อย่างใด ครั้นต่อมาเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบจึงได้นำเงินดังกล่าวมารวมแล้วคำนวณตามสูตรสำเร็จของกรมสรรพากร โดยอาศัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.2/2526แล้วแจ้งการประเมินให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหักณ ที่จ่าย ที่ยังชำระไม่ครบพร้อมเงินเพิ่มไปชำระต่อเจ้าพนักงานณ ที่ว่าการเขตบางกะปิตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานจึงได้อุทธรณ์การประเมิน ตามเอกสารหมาย จ.3และต่อมาคณะกรรมการดังกล่าวได้พิจารณาแล้วตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งวินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้ว
ในปัญหาที่ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า ในการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่ายสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2525 และ พ.ศ. 2526 นั้น เจ้าพนักงานประเมินคำนวณโดยใช้สูตรสำเร็จของกรมสรรพากรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.2/2526 ปัญหาจึงมีว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าวข้างต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ปัญหาดังกล่าวมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งประกาศและมีผลบังคับใช้อยู่ในปีภาษี พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2526 บัญญัติไว้ความว่า “ให้บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคลผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามวิธีดังกล่าวต่อไปนี้
(1) ในกรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) ให้คูณเงินได้พึงประเมินที่จ่ายด้วยจำนวนคราวที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ได้จำนวนเงินเสมือนหนึ่งว่าได้จ่ายทั้งปี แล้วคำนวณภาษีตามเกณฑ์ในมาตรา 48 เป็นเงินภาษีเท่าใด ให้หารด้วยจำนวนคราวที่ต้องจ่ายได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้หักเป็นเงินค่าภาษีไว้เท่านั้น” ฯลฯจึงเห็นได้ว่าการประเมินภาษีอากรของโจทก์ในกรณีที่พิพาทกันนี้เจ้าพนักงานประเมินต้องคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา 50(1) บัญญัติไว้ดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณโดยใช้สูตรสำเร็จของกรมสรรพากรตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.2/2526 สำหรับภาษีอากรของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525 และพ.ศ. 2526นั้น ไม่มีกฎหมายอนุญาตให้เจ้าพนักงานประเมินกระทำไปเช่นนั้นได้เงินได้พึงประเมินที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50(1) การที่จำเลยมีคำสั่งดังกล่าวซึ่งระบุวิธีปฏิบัติผิดแผกไปจากที่มาตรา 50(1) บัญญัติไว้ ทั้งการคำนวณตามวิธีการที่ระบุไว้ในคำสั่งดังกล่าวก็ได้ตัวเลขแตกต่างจากที่คำนวณตามวิธีการที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 50(1) ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้คำนวณไว้ในคำวินิจฉัยแล้ว ปรากฏว่าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2526 นั้น เมื่อคำนวณรวมกันแล้วปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินค่าภาษีเกินไปเป็นเงิน 747,465.14 บาท ทั้งนี้โดยศาลภาษีอากรกลางคำนวณตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรซึ่งตรงกับจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้อง จะผิดกันก็เพียง 2 สตางค์เท่านั้นและจำนวนเงินที่ศาลภาษีอากรกลางคำนวณไว้นี้ ทั้งโจทก์และจำเลยก็มิได้คัดค้านว่าไม่ถูกต้องอย่างไร จึงฟังได้ว่าโจทก์ชำระเงินค่าภาษีเกินไป 747,465.14 บาท ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมาเห็นได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประเมินภาษีอากรของโจทก์โดยอาศัยวิธีการตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.2/2526 นั้นไม่ชอบ
สำหรับปัญหาต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า โจทก์หมดสิทธิได้รับเงินค่าภาษีที่ชำระเกินคืนหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นเสียภาษีเพิ่มเติมให้แก่นายเอฟ.ซี.ปลังเกตต์ ลงวันที่ 30ธันวาคม 2526 แต่โจทก์ยื่นคำฟ้องในประเด็นขอเรียกคืนภาษีที่ชำระเกินเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 ซึ่งเกิน 3 ปี โจทก์จึงหมดสิทธิได้รับเงินค่าภาษีที่ชำระเกินคืนตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากรและตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1588/2522ปัญหานี้แม้จำเลยจะเพิ่งกล่าวอ้างมาในชั้นอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ในปัญหาดังกล่าวปรากฏตามคำอุทธรณ์ของโจทก์เอกสารหมาย จ.3ซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ว่า โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์นำส่งภาษีเกินไป747,465.16 บาท โจทก์ขอให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกเลิกการประเมินและให้เครดิตภาษีที่โจทก์ชำระเกินไปจำนวนดังกล่าวในปี พ.ศ. 2526 ให้แก่โจทก์ เห็นได้ว่าโจทก์ร้องขอให้จำเลยคืนเงินภาษีที่ชำระเกินภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2526 อันเป็นการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 63 แล้ว ทั้งนี้เพราะเมื่อโจทก์ได้รับแจ้งการประเมินแล้วโจทก์ก็ไม่จำเป็นต้องร้องขอต่อเจ้าพนักงานประเมินต่อไป โจทก์มีสิทธิขอเงินภาษีที่จ่ายเกินคืนโดยขอต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 3 ปี ตามมาตรา 63 ได้ โจทก์หาได้หมดสิทธิที่จะได้รับเงินค่าภาษีที่ชำระเกินคืนไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share