คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408-410/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกเงินสร้างตึกขึ้นแล้วจำเลยมีสิทธิที่จะอยู่ได้ 8 ปีฝ่ายเจ้าของที่ดินเป็นผู้ที่จะได้ตึกโดยไม่ต้องออกเงินสร้างแต่จะต้องยอมให้ผู้สร้างอยู่ได้ 8 ปี สัญญาเช่นนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทนกันย่อมมีผลผูกพันกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียน(อ้างฎีกาที่ 1460/2495)
โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับน.ส.สุภาคู่สัญญาซึ่งทำสัญญากันกับจำเลยดังกล่าวข้างต้นและโจทก์รับในรายงานพิจารณาของศาลว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้ น.ส.สุภาทำสัญญานั้นด้วยโจทก์จึงต้องผูกพันในสัญญาด้วยและเมื่อโจทก์รับโอนที่ดินมาเป็นของตนแต่ผู้เดียวในภายหลังโจทก์ต้องรับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญานั้นมาด้วยเมื่อตามสัญญา จำเลยมีสิทธิจะอยู่ได้ 8 ปีขณะที่ยังไม่ครบกำหนดนั้นโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิจะเลิกสัญญาและยังไม่มีสิทธิจะขับไล่จำเลย
ตามสัญญาดังกล่าวข้างต้นปรากฏว่าน.ส.สุภายินยอมจะให้จำเลยอื่นอีก 2 คนได้เช่าตึกนั้นอยู่คนละ 1 ห้องตามเดิมมีกำหนด 8 ปี จำเลยอื่นทั้ง 2 คนนั้นได้ลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างตึกตามส่วนที่ตนจะเช่าอยู่และเมื่อสร้างตึกแล้วจำเลยอื่นทั้ง2นั้นก็ได้เข้าอยู่ในตึกคนละ 1 ห้องตามสัญญาดังกล่าวกรณีเช่นนี้ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 จำเลยอื่นทั้ง 2 นี้แม้ไม่ใช่คู่สัญญาก็มีสิทธิที่จะอยู่ในตึกตามสัญญานั้นได้

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ พิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ จำเลยแถลงรับกันว่าสัญญาที่นายปิเตอร์จำเลยกับ น.ส.สุภาทำไว้ต่อกันโดยโจทก์รู้เห็นยินยอมให้ น.ส.สุภาทำนั้นคือเอกสารหมายล.1 กล่าวคือจำเลยเป็นผู้สร้างตึกขึ้น แล้วเสียค่าเช่าให้ห้องละ 50 บาท เมื่อเช่าอยู่ 8 ปีแล้ว ตึกก็ตกเป็นสิทธิของโจทก์ เมื่อนายปิเตอร์จำเลยสร้างตึกขึ้นตามสัญญาแล้ว นายปิเตอร์ นายซูยาเชนและนางไซ้เองก็ได้เข้าอยู่ในตึกตามข้อสัญญาในเอกสาร ล.1 แต่การเช่าตามเอกสาร ล.1 ยังไม่ได้จดทะเบียนค่าเช่าที่จำเลยเสียให้โจทก์เป็นค่าเช่าที่ดิน เมื่อรับกันเช่นนี้แล้ว โจทก์จำเลยขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยรับกันประกอบกับเอกสารล.1 นั้น จำเลยจะมีสิทธิอยู่ในที่ดินของโจทก์จนครบ 8 ปีตามสัญญาหรือไม่ (คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยแต่ละคนออกจากห้องของโจทก์)

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์

ในข้อกฎหมายศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาหมาย ล.1 เป็นสัญญาที่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ออกเงินสร้างตึกขึ้น แล้วมีสิทธิที่จะอยู่ได้ 8 ปี สัญญาเช่นนี้เป็นสัญญาต่างตอบแทน ย่อมมีผลผูกพันกันได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนอ้างฎีกาที่ 1460/2495

ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่สัญญาจึงไม่ต้องผูกพันด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าขณะที่ทำสัญญากัน โจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่กับน.ส.สุภาคู่สัญญา ยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังรับในรายงานพิจารณาของศาลว่าโจทก์ได้รู้เห็นยินยอมให้ น.ส.สุภาทำสัญญานั้นด้วย ฉะนั้นโจทก์จึงต้องถูกผูกพันในสัญญาด้วย และเมื่อโจทก์รับโอนที่ดินมาเป็นของตนแต่ผู้เดียวในภายหลังโจทก์ก็ต้องรับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญานั้นมาด้วยเมื่อตามสัญญาจำเลยมีสิทธิจะอยู่ได้ 8 ปี บัดนี้ยังไม่ครบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะเลิกสัญญาและขอให้ขับไล่จำเลยได้

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่านายซูยาเชนและนางไซ้เองไม่ใช่คู่สัญญาย่อมไม่ได้รับผลตามสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญาหมาย ล.1 ปรากกว่า น.ส.สุภายินยอมให้จำเลย 2 คนนี้เช่าอยู่ได้คนละ 1 ห้องตามเดิมมีกำหนด 8 ปี จำเลยทั้งสองได้ลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างตึกตามส่วนที่ตนจะเช่าอยู่ และเมื่อตึกสร้างแล้ว จำเลยทั้งสองก็ได้เข้าอยู่ในตึกคนละ 1 ห้องตามสัญญาหมาย ล.1 กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 จำเลยทั้งสองนี้ แม้ไม่ใช่คู่สัญญาก็มีสิทธิจะอยู่ในตึกตามสัญญานั้นได้

Share