คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2485

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำรับของจำเลยในคดีมีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปีนั้น รับฟังได้เมื่อมีพยานโจทก์ประกอบ มิใช่จะห้ามไม่ให้รับฟังเสียเลยทีเดียว. ศาลอาจใช้ดุลยพินิจเรียกสำนวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณาได้แม้โจทก์จะไม้ได้อ้างก็ตาม. จำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง แม้จะไม่มีพยานบุคคลประกอบ เพราะเป็นหนังสือราชการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้มีดเหน็บแทงผู้ตายถูกคอ ๑ ที แผลลึกทะลุใน จำเลยให้การรับสารภาพระหว่างพิจารณา เด็กหญิงวานีประจักษ์พยานของโจทก์อายุ ๕ ขวบ มาศาลแม่ไม่ยอมพูดอะไร ศาลชั้นต้นจึงเรียกสำนวนการสอบสวนมาประกอบการพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา ๒๔๙ ให้จำคุก ๗ ปี ๖ เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่มีความเห็นแย้งอ้างว่าพยานโจทก์ล้วนแต่เป็นพยานบอกเล่าและพยานชั้นที่ ๒ ซึ่งใช้ไม่ได้ และศาลเรียกสำนวนการสอบสวนมาเองก็ไม่ควร ทั้งไม่มีพยานประกอบข้อความในสำนวนการสอบสวนนั้น เห็นควรยกฟ้อง.
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าคำรับของจำเลยในคดีเช่นนี้รับฟังได้ ในเมื่อมีพยานโจทก์ประกอบจนเป็นที่พอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง หาใช่ห้ามไม่ให้รับฟังเสียเลยทีเดียว ส่วนที่จะลงโทษจำเลยได้หรือไม่เป็นคนละปัญหา ส่วนคำให้การเด็กหญิงวานีประจักษ์พยานโจทก์ชั้นสอบสวนนั้นก็รับฟังได้เพราะเมื่อเด็กอายุเพียง ๕ ปีประหม่าจนไม่กล้าเบิกความในศาล ก็ไม่มีหนทางอื่นที่จะทำได้ส่วนการเรียกสำนวนการสอบสวนเรื่องนี้มาก็เป็นดุลยพินิจของศาล ไม่มีกฎหมายห้าม และแม้จะไม่มีพยานประกอบสำนวนการสอบสวนนี้ตามกฎหมายก็ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าถูกต้อง เพราะเป็นหนังสือราชการ จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง.

Share