คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4074/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์อาจฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ หากจะฟ้องด้วยวาจา โจทก์ต้องแจ้งต่อศาลถึงชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยไดกระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้ ดังนั้น โจทก์จึงต้องมาศาลกล่าวฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยวาจาให้ได้สาระตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว การที่โจทก์ให้พนักงานธุรการนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามาเสนอต่อศาลชั้นต้น และเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องไว้ โดยสภาพของบันทึกดังกล่าวไม่ใช่การฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยวาจา แต่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานเพื่อจะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาด้วยวาจา และเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การที่ในวันดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มาศาล จึงไม่อาจฟ้องคดีด้วยวาจาได้ ศาลเองก็ไม่อาจพิจารณาพิพากษาลงโทษหรือพิพากษายกฟ้องจำเลยได้ กรณีต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ให้พนักงานธุรการนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามายื่นฟ้องต่อพนักงานรับฟ้องเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 เวลา 15.55 นาฬิกา กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ครั้นเวลา 16.25 นาฬิกา เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลรายงานต่อศาลว่าได้ประกาศเรียกโจทก์เข้าพิจารณาตามที่ศาลสั่งแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ศาลออกนั่งพิจารณาเวลา 16.35 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มาศาล จึงให้ยกฟ้องโจทก์ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพนัน ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์อาจฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ หากจะฟ้องด้วยวาจาตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้โจทก์ต้องแจ้งต่อศาลถึง ชื่อ ที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้ วิธีปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวโจทก์จึงต้องมาศาลกล่าวฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยวาจาให้ได้สาระดังกล่าว ตามข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 มีการนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามาเสนอต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องไว้ โดยสภาพของบันทึกดังกล่าวจึงไม่ใช่การฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยวาจา แต่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานเพื่อจะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาด้วยวาจา เพราะเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวดเร็วขึ้นเท่านั้น ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปตามที่ศาลได้บันทึกไว้ตอนท้ายของเอกสารบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 20 (การพนัน) ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 ว่า ศาลออกนั่งพิจารณา 16.30 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มาศาลจึงให้ยกฟ้องโจทก์… ฯลฯ และรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 กับรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2545 ก็ยืนยันว่าในวันดังกล่าวโจทก์ไม่ได้มาศาล ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงจึงไม่อาจมีการฟ้องคดีด้วยวาจาได้เพราะโจทก์ไม่ได้มาศาล ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พิพากษายกฟ้องก็ไม่ได้ ข้อความในบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ และคำพิพากษาฉบับดังกล่าวที่ระบุว่า ศาลจึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ริบของกลาง ให้จำเลยจ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับ จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ก่อนข้อความที่ศาลบันทึกว่าศาลออกนั่งพิจารณาเวลา 16.35 นาฬิกานั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นข้อความของแบบพิมพ์ซึ่งศาลลืมขีดฆ่าออกเท่านั้น และที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องก็ไม่ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share