แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิด ฐานยักยอกเครื่องรับโทรทัศน์สี และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ที่ยักยอกไป การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหาย ที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญาแม้จะถือว่า เป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา เท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ เครื่องรับโทรทัศน์สี ซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน อันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่ง ถึงแม้คำขอบังคับ จะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยที่ 1 คืนเครื่องรับโทรทัศน์สีหรือใช้ราคา แต่ข้ออ้างที่อาศัย เป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียวกัน ในคดีอาญานั้น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการ ขอบังคับในส่วนแพ่งนั้น เป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้าง เนื่องจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาเช่าซื้อในเมื่อมูลหนี้ ในคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ ประกอบกับคำฟ้อง ของโจทก์ กรณีของการผิดสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นอำนาจของ คู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญา ไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาเช่าซื้อมาเป็นข้ออ้าง ในคำขอส่วนแพ่งได้จึงมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกัน ในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน หนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2 ระบุว่า ขาย โอน จำนองจำนำ แลกเปลี่ยน และจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่นและข้อ 8 ระบุว่า ประกอบกิจการค้า เครื่องจักร เครื่องยนต์เครื่องมือกล เครื่องทุ่นแรง ยานพาหนะ เครื่องกำเนิด และเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ การที่โจทก์ให้เช่าซื้อ เครื่องรับโทรทัศน์สีอันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นการจำหน่าย ทรัพย์สินโดยประการอื่นและเป็นการประกอบกิจการค้าตามความหมาย ในหนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2 และข้อ 8 จึงเป็นการกระทำซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง คดีส่วนอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบเครื่องรับโทรทัศน์สีที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดีหากไม่สามารถส่งคืนได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 58,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเครื่องรับโทรทัศน์สีหมายเลขประจำเครื่อง 1500013 หมายเลขประจำโครง BA 2719787ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพใช้การได้ดี หากไม่สามารถส่งมอบคืนได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 58,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ปรากฏว่าข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 2มิถุนายน 2540 พนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1ข้อหายักยอกเครื่องรับโทรทัศน์สีของโจทก์ในคดีนี้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ จำนวน 58,652 บาท ปรากฏตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2660/2540 ของศาลแขวงเชียงใหม่ ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลแขวงเชียงใหม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 เครื่องรับโทรทัศน์สีและเงินจำนวนตามคำขอเป็นรายเดียวกัน เห็นว่า แม้พนักงานอัยการประจำศาลแขวงเชียงใหม่จะเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกเครื่องรับโทรทัศน์สี และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญาแม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1ผิดสัญญาเช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สี ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันอันเป็นการฟ้องในมูลหนี้ผิดสัญญาทางแพ่งถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยที่ 1คืนเครื่องรับโทรทัศน์สีหรือใช้ราคา แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น มิได้เป็นอย่างเดียวกันในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นเป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาเช่าซื้อในเมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ กรณีของการผิดสัญญาเช่าซื้อนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาเช่าซื้อมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้จึงมิใช่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันในความหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์อีกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อ เห็นว่า หนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2ระบุว่า ขาย โอน จำนอง จำนำ แลกเปลี่ยน และจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่น และข้อ 8 ระบุว่าประกอบกิจการค้า เครื่องจักรเครื่องยนต์ เครื่องมือกล เครื่องทุ่นแรง ยานพาหนะเครื่องกำเนิด และเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ การที่โจทก์ให้เช่าซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีอันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินโดยประการอื่นและเป็นการประกอบกิจการค้าตามความหมายในหนังสือบริคณห์สนธิของโจทก์ข้อ 2 และข้อ 8 จึงเป็นการกระทำซึ่งอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1อุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งคดีอาญานั้นศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาคดีไปแล้ว คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา เห็นว่า คดีดังกล่าวศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดและลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์ ส่วนคดีแพ่งโจทก์ฟ้องขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่เช่าซื้อโดยอาศัยสัญญาเช่าซื้อ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้
พิพากษายืน