คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของมารดาผู้คัดค้านและผู้ตาย เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตาย น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน และผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน และเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางเสาวณีย์ ผู้ร้องและนางสาวพิชญ์สินี ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิธรหรือจิรศักดิ์ ผู้ตาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้ถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งถอนนางสาวพิชญ์สินี ผู้คัดค้าน ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายศิธรหรือจิรศักดิ์ ผู้ตาย และให้นางเสาวณีย์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า นายศิธรหรือจิรศักดิ์ ผู้ตาย เป็นบุตรของผู้ร้องและนายสนธิ ตามสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน เดิมผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับนางปิยฉัตร โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรร่วมกัน 2 คน คือ นางสาวณัฐธิดา และนายณัฐวุฒิ ตามสำเนารายการเกี่ยวกับบ้าน ต่อมาผู้ตายเลิกร้างกับนางปิยฉัตร เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้าน แต่ไม่มีบุตรร่วมกัน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะเหตุถูกคนร้ายยิงศีรษะ ตามมรณบัตร
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ศาลสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้อง นายสนธิ นางสาวณัฐธิดาและนายณัฐวุฒิเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งนายสนธิ นางสาวณัฐธิดาและนายณัฐวุฒิยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของผู้ตาย ไม่เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ผู้คัดค้านอ้างว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แต่ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตายเพียง 2 ปีเศษ ไม่มีบุตรร่วมกัน ผู้ตายก็ถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ตายยังมีทายาทโดยธรรมและร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายเข้ามาเช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมย่อมสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายยิ่งกว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นเพียงเจ้าของรวมในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมากับผู้ตายในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ทั้งทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ตายถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครอง เช่น ที่ดินและอาคารพาณิชย์เลขที่ 323 ถึง 323/1 ถนนมหาราช ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นของนางชนาพร มารดาของผู้คัดค้านและผู้ตาย บุคคลทั้งสองกู้ยืมเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ ผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนนางชนาพร หากเป็นเช่นนี้ทรัพย์สินทั้งสองรายการนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับผู้คัดค้าน รถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลตผู้ตายมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนผู้คัดค้าน กิจการโรงเรียนกวดวิชาแม็คทั้งสาขากระบี่และสาขาภูเก็ต จดทะเบียนใบอนุญาตในชื่อผู้คัดค้าน หลังผู้ตายถึงแก่ความตาย กิจการขาดทุนทั้งสองแห่ง คงมีแต่รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด เรนเจอร์ ที่อยู่ในครอบครองของผู้ร้องและกิจการร้านอาหาร TOSIT ที่อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตาย แสดงว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งสิทธิในทรัพย์สินของผู้ตายเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและผู้คัดค้านเอง ไม่ใช่กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ซึ่งย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรวบรวม จัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้ทายาทโดยธรรมของผู้ตาย นอกจากนี้ในคดีที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างใช้สิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันชีวิตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องของผู้คัดค้านด้วยเหตุผลว่าผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลอมลายมือชื่อของผู้ตายในคำขอเปลี่ยนแปลง/ต่ออายุกรรมธรรม์จากเดิมที่ระบุให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้รับประโยชน์คนละครึ่งมาเป็นให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์เพียงผู้เดียว และการเสียชีวิตของผู้ตายทำให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำประกันชีวิตของผู้ตายหลายสัญญา น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านวางแผนทำสัญญาประกันชีวิตให้ผู้ตายเพื่อต้องการได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขในกรมธรรม์มากกว่าทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตให้ผู้ตาย ผู้คัดค้านใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน ตามสำเนาคำพิพากษาและผู้ร้องยังฟ้องผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นในข้อหาเบิกความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีที่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนกันดังกล่าวตามสำเนาคำฟ้อง ยิ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนผู้คัดค้านออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล เห็นว่า การที่ศาลใช้ดุลพินิจตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั้น นอกจากจะต้องเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 แล้ว ศาลยังจะต้องพิเคราะห์ถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการนั้นด้วย ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับประโยชน์จากการทำสัญญาประกันชีวิตของผู้ตายแต่ผู้เดียวสูงถึง 22,000,000 บาทเศษ อันเป็นเรื่องผิดปกติทั้งๆ ที่ผู้คัดค้านเป็นภริยาซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาก่อนผู้ตายจะเสียชีวิตเพียง 2 ปีเศษ อีกทั้งสาเหตุที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิงจนถึงแก่ความตายยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าผู้คัดค้านมีส่วนรู้เห็นที่ผู้ตายถูกยิงหรือไม่ จึงเป็นการวินิจฉัยถึงความน่าเชื่อถือในตัวผู้คัดค้านว่าสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ส่วนการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านมีข้อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย และกิจการโรงเรียนกวดวิชาขาดทุนและปิดกิจการไปแล้ว ประกอบกับการที่ผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านข้อหาเบิกความเท็จ แสดงว่าต่างมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย การจัดการมรดกร่วมกันมีข้อขัดข้อง ไม่อาจจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันต่อไปได้ ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเป็นการวินิจฉัยถึงเหตุอื่นๆ เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องจัดการต่อไปประกอบการตั้งผู้จัดการมรดกหรือการเพิกถอนผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่ง ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนและเมื่อประเด็นที่ว่า ผู้คัดค้านละเลยต่อหน้าที่ในการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share