แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะที่ ส. ขับรถยนต์มาตามถนนพหลโยธินด้วยความเร็วจำเลยที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกออกจากถนนพัฒน์พงษ์ตัดผ่านถนนพหลโยธินโดยไม่ใช้ความระมัดระวังและหยุดรอที่บริเวณปากทางถนนพัฒน์พงษ์และที่หัวเกาะกลางถนนให้รถของส. ซึ่งแล่นมาตามถนนพหลโยธินผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถตัดหน้ารถยนต์ของ ส.อย่างกะทันหันและในระยะกระชั้นชิดทำให้ ส. ไม่สามารถห้ามล้อรถให้หยุดได้ทัน และไม่สามารถหักหลบได้ จึงได้เกิดชนกันโดยจุดชนอยู่บนถนนพหลโยธิน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อและความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เป็นผลที่ใกล้ชิดกับเหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน และเป็นความประมาทเลินเล่อที่เกิดขึ้นภายหลังจากความประมาทของส. ที่ขับรถด้วยความเร็วมาก่อน ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถตัดหน้ารถยนต์ของ ส. แล้ว ความเสียหายย่อมจะไม่เกิดขึ้น กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 1 ต้องเสียไปในการร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกมิใช่เป็นค่าปลงศพหรือค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการปลงศพ
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4เป็นภรรยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสันติ ประกอบสันติสุขจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 6ง-7725กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2525 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อโดยไม่หยุดรถบริเวณทางร่วมทางแยกและรอให้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 6ง-80-1556 สระบุรี ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ที่ 5 และมีนายสันติขับแล่นผ่านไปก่อน เป็นเหตุให้รถยนต์ซึ่งนายสันติขับมาห้ามล้อหยุดรถไม่ทัน จึงชนกับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายสันติขับได้รับความเสียหายและนายสันติถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 2,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระค่าซ่อมรถจำนวน137,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1พฤษภาคม 2526 จนกว่าชำระเสร็จให้แก่โจทก์ที่ 5
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทแต่เป็นความประมาทของนายสันติทำให้รถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน6,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เหตุที่รถชนกันเกิดขึ้นจากความประมาทของนายสันติค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไปและจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกิน 25,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ว่านายสันติมิได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาท แต่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จำนวน 1,450,000 บาท ให้จำเลยที่ 3ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เกิน 25,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 100,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่นายสันติขับรถมาตามถนนพหลโยธินด้วยความเร็ว จำเลยที่ 1 ก็ได้ขับรถยนต์บรรทุกออกจากถนนพัฒน์พงษ์ตัดผ่านถนนพหลโยธินโดยไม่ใช้ความระมัดระวังและหยุดรอที่บริเวณปากทางถนนพัฒน์พงษ์และที่หัวเกาะกลางถนนให้รถนายสันติซึ่งแล่นมาตามถนนดังกล่าวผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 ได้ขับรถตัดหน้ารถยนต์นายสันติอย่างกะทันหันและในระยะกระชั้นชิดทำให้นายสันติไม่สามารถห้ามล้อรถให้หยุดได้ทันและไม่สามารถหักหลบได้ จึงได้เกิดชนกันโดยจุดชนอยู่บนถนนพหลโยธินที่เป็นรอยห้ามล้อและรอยครูดติดต่อกัน และหลังจากชนกันแล้วรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1ได้ลากรถยนต์นายสันติเข้าไปที่ปากทางเข้าวัดเพลียขวาการที่รถชนกันและเกิดความเสียหายขึ้นดังกล่าวนี้จึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อและความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนี้เป็นผลที่ใกล้ชิดกับเหตุที่รถทั้งสองคันชนกัน และเป็นความประมาทเลินเล่อที่เกิดขึ้นภายหลังจากความประมาทของนายสันติที่ขับรถด้วยความเร็วมาก่อน ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ไม่ขับรถตัดหน้ารถยนต์ของนายสันติแล้วความเสียหายย่อมจะไม่เกิดขึ้น กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียว หาใช่นายสันติแต่อย่างใดไม่
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 บัญญัติว่า”ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย” ค่าสินไหมทดแทนตามที่กล่าวไว้ในมาตรานี้ย่อมหมายถึงค่าปลงศพโดยตรงประการหนึ่ง และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการปลงศพจนเสร็จสิ้นอีกประการหนึ่ง ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 1 ต้องเสียไปในการร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกจึงมิใช่เป็นค่าปลงศพหรือค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการปลงศพ จึงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ไม่ได้
แม้ขณะที่นายสันติถึงแก่ความตายมีอายุ 40 ปี สามารถจะทำงานต่อไปได้ถึงอายุ 60 ปี ก็เป็นเรื่องการคาดคะเนที่ไม่แน่นอน ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะคนละ 5,000 บาทต่อเดือนโดยกำหนดให้โจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 10 ปี โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4มีกำหนดจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ จึงเป็นการชอบแล้ว
การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่จำต้องคำนึงถึงความจริงว่า ผู้มีสิทธิที่จะได้รับค่าขาดไร้อุปการะนั้นมีฐานะอย่างไรและมีค่าใช้จ่ายอย่างไร
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1, 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์