คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 406/2480

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยปลอมหนังสือลงชื่อผู้อื่นมีข้อความรับรองการกู้เงินเพื่อให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยถ้าปรากฎว่าโจทก์มิได้หลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยไปดังนี้ ไม่เรียกว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายจากหนังสือปลอมนั้นโจทก์หามีอำนาจฟ้องไม่ผู้เสียหายตามความใน ม.222 นั้นมิใช่ฉะเพาะแต่ผู้ที่ถูกปลอม ผู้ที่ถูกฉ้อโกงโดยหนังสือนั้นก็เป็นผู้เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำหนังสือปลอมขึ้นฉะบับหนึ่งลงนาม ส.นายเวรคลังกรมไปรษณีมีข้อความรับรองหักเงินเดือนจำเลยชำระให้โจทก์ไปแสดงต่อโจทก์ ๆ หลงเชื่อว่าเป็นคำรับรองอันแท้จริง จึงได้จ่ายเงินกู้ให้จำเลยไป ๓๓๐ บาท และจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ ความจริงปรากฎว่า ส.มิได้ลงนามรับรองในหนังสือนั้น โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ม.๒๒๒-๒๒๔-๓๐๔
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่ได้ปลอมหนังสือของโจทก์ ๆ จึงมิได้เป็นผู้เสียหายส่วนข้อฉ้อโกงปรากฎว่าเงิน ๓๓๐ บาทตามสัญญากู้นั้นเป็นเงินที่เปลี่ยนจากสัญญากู้เดิมโจทก์มิได้หลงเชื่อจ่ายเงินให้จำเลยตามที่หลอกลวง พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ปัญหามีว่า การกระทำของจำเลยจะถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตาม ม.๒๒๒ (๑) หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหายตามที่กล่าวใน ม.๒๒๒ นี้มิใช่ฉะเพาะแต่ผู้ที่ถูกปลอมแม้จะเป็นสาธารณชนผู้หนึ่งผู้ใดที่อาจได้รับความเสียหายเพราะการปลอมนั้นก็ถือว่าเป็นผู้เสียหาย คดีนี้แม้จำเลยจะไม่ได้ปลอมหนังสือของโจทก์ก็ดี ถ้าจำเลยได้นำหนังสือปลอมนั้นมาใช้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์หลงจ่ายเงินให้จำเลยไปก็ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย จากหนังสือปลอมนั้น แต่คดีนี้โจทก์หาได้จ่ายเงินให้จำเลยไปโดยหลงเชื่อในเหตุที่จำเลยนำหนังสือปลอมมาหลอกลวงโจทก์ไม่ จะฟังว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายไม่ได้ จึงพิพากษายืนตามศาลล่างทั้ง ๒ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share