คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นี้ กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ดูแลผู้เยาว์ของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า “พราก” โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา ก่อนเริ่มสืบพยานเด็กหญิง น. โดยนาย บ. ผู้เสียหายที่ 1 และนาย บ. ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการกระทำของจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 322,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยยื่นคำให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองและจำเลยสามารถตกลงเรื่องค่าสินไหมทดแทนได้ ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องขอค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกจาก สารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามและกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เป็นความผิดสองกระทงจำคุกกระทงละ 8 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจาร เป็นความผิดสองกระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี รวมจำคุก 28 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเหตุเกิดที่วัดลำบัวซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 1 ประมาณ 200 เมตร เหตุเกิดครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เวลากลางวัน ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 9 ขวบเศษ เล่นอยู่กับเพื่อนอีกสองคนบริเวณวัดลำบัว ผู้เสียหายที่ 1 ปวดปัสสาวะจึงเข้าห้องน้ำ โดยเพื่อนทั้งสองรออยู่หน้าห้องน้ำ เมื่อออกมาผู้เสียหายที่ 1 ไม่พบเพื่อนทั้งสองแต่เห็นจำเลยอยู่หน้าห้องน้ำ จำเลยผลักผู้เสียหายที่ 1 ให้เข้าไปในห้องน้ำแล้วล็อกประตูจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ทางทวารหนักจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง จำเลยห้ามไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 บอกใคร ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 เล่นอยู่บริเวณลานดินที่วัดลำบัว หลานชายของจำเลยมาชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปเล่นทรายบริเวณเมรุเผาศพ เมื่อไปถึงผู้เสียหายที่ 1 พบจำเลยนั่งอยู่บนรถเข็นบริเวณดังกล่าว จำเลยเป็นคนพิการขาลีบต้องนั่งรถเข็นแต่ร่างกายส่วนอื่นปกติ หลานชายของจำเลยไปเล่นที่อื่น จำเลยบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 มานั่งบนตักจำเลย แล้วจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ทั้งทางทวารหนักและอวัยวะเพศจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ชั้นพิจารณาจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตามและฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม สำหรับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คดีในความผิดฐานนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 7
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม หรือไม่ ซึ่งความผิดฐานนี้กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพราก และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของผู้ดูแลผู้เยาว์ของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครอง นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า “พราก” โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ทั้ง 2 กระทง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 และมาตรา 9 ให้ยกเลิกความในมาตรา 279 และให้ใช้ความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม), 279 วรรคแรก (เดิม) และ 317 วรรคสาม (เดิม) โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share