คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นราชการประจำตามปกติที่รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่โจทก์ยังมีธนาคารอื่นที่ได้รับใบอนุญาตเช่นกัน ดังนั้น ปลัดกระทรวงการคลังย่อมใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์โดยตั้งเป็นสาขาในประเทศไทยได้ โดยไม่จำต้องผ่านความเห็นชอบของบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 6 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 18 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ข้อ 1 การที่ปลัดกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตให้แก่โจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย และตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดจะกระทำการแทนธนาคารต่างประเทศโดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักร หรือธนาคารพาณิชย์ใดนอกจากสาขาของธนาคารต่างประเทศจะตั้งสำนักงานเพื่อกระทำการแทนธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย…” เห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช้บังคับแก่สาขาของธนาคารต่างประเทศ ดังนั้น ห. ผู้จัดการสาขาของโจทก์ในประเทศไทยซึ่งกระทำการแทนโจทก์มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงตามสัญญาจำนองที่ว่า หากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจะชำระส่วนที่ขาดจนครบ แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะผิดไปจากบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 733 ก็ตาม แต่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงตามบันทึกต่อสัญญาจำนองที่กำหนดว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จำนองต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากบังคับจำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ก็เป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาจำนอง ซึ่งจำเลยที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างทราบดีอยู่แล้ว จะถือว่าโจทก์ได้เปรียบในการต่อรองในการปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยทั้งสามต้องรับภาระหนักกว่าโจทก์มากตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 10 (1) (3) และ (4) หาได้ไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
หนังสือสัญญาค้ำประกันแม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ แต่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 และ 681 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีจำนวนแน่นอน โดยหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นได้จริงก็ค้ำประกันได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับได้
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์พร้อมกับคำพิพากษา จำเลยทั้งสามชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งจนพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงยุติไป จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาได้อีก ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 23,413,689.02 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 21,375,679.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นตันไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทธนาคารสากลพาณิชย์แห่งประเทศจีน จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 21,375,679.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 16828 ตำบลคลองหลวงแพ่ง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แทน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ยกเว้นค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนจำนวนละ 50,000 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาโดยได้รับยกเว้นค่าขึ้นศาลจำนวน 100,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่า การใช้อำนาจของปลัดกระทรวงการคลังในการออกใบอนุญาตให้โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มิใช่ราชการประจำตามปกติ ปลัดกระทรวงการคลังจึงไม่อาจใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการดำเนินการดังกล่าว โดยต้องเสนอข้อความวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติโดยผ่านหัวหน้ากองอำนวยการหรือเสนอผู้อำนวยการฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับราชการของกระทรวงนั้น ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 3 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 6 และประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 18 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2514 ข้อ 1 การที่ปลัดกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตให้แก่โจทก์ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของบุคคลดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และโจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไทย การแต่งตั้งนายหวังให้เป็นผู้กระทำการแทนของโจทก์ในประเทศไทยกระทำภายหลังจากพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ ออกใช้บังคับแล้ว จึงต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดจะกระทำการแทนธนาคารต่างประเทศโดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย…” เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่านายหวังได้รับอนุญาตตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่อาจกระทำการแทนโจทก์ในประเทศไทย และไม่อาจมอบอำนาจให้นายบุญช่วย หรือนายสุพรรณ์ ฟ้องคดีนี้ เห็นว่า การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์เป็นราชการประจำตามปกติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่เฉพาะแต่โจทก์ยังมีธนาคารอื่นที่ได้รับใบอนุญาตเช่นกัน ดังนั้น ปลัดกระทรวงการคลังย่อมใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ให้แก่โจทก์โดยตั้งเป็นสาขาในประเทศไทยได้ โดยไม่จำต้องผ่านความเห็นชอบของบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ส่วนนายหวังซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ในประเทศไทยและมีอำนาจยื่นฟ้องคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ นายหวังจึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ ย่อมมอบอำนาจให้นายสุพรรณ์ฟ้องคดีนี้แทนได้ ส่วนข้อที่ว่านายหวังเป็นผู้กระทำการแทนธนาคารต่างประเทศ จึงต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 7 ทวิ บัญญัติว่า “ผู้ใดจะกระทำการแทนธนาคารต่างประเทศโดยมีสำนักงานติดต่อกับบุคคลทั่วไปในราชอาณาจักร หรือธนาคารพาณิชย์ใดนอกจากสาขาของธนาคารต่างประเทศจะตั้งสำนักงานเพื่อกระทำการแทนธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย…” บทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ใช้บังคับแก่สาขาของธนาคารต่างประเทศ ดังนั้น นายหวังซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ได้กระทำการแทนโจทก์ มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว จึงไม่ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการต่อมาว่า สัญญาค้ำประกันไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จำนอง แม้จะมีข้อตกลงกับโจทก์ว่าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 3 จะชำระส่วนที่ขาดจนครบ แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ซึ่งเป็นเรื่องเมื่อบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ผู้ที่จะตกลงรับผิดต่อโจทก์ คือ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ ส่วนผู้จำนองนั้นบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้พ้นจากความรับผิด เมื่อการบังคับจำนองเสร็จสิ้นแล้ว หากมีข้อตกลงผิดไปจากบทบัญญัติดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 ในมาตรา 4 บัญญัติถึงกรณีที่ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่ผู้ประกอบธุรกิจการค้าได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ในคดีนี้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์ไปเพียง 20,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 3 ต้องจำนองทรัพย์สินไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 30,000,000 บาท และยังมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับผิดชำระหนี้ในส่วนที่ขาด หากได้เงินจากการบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ในฐานะผู้บริโภคต้องรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ศาลย่อมวินิจฉัยให้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี เมื่อทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ถูกยึดขายทอดตลาดไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสามต่อไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 กล่าวถึงแต่ลูกหนี้เท่านั้นที่ไม่ต้องรับผิดส่วนที่ขาดหากการบังคับจำนองไม่พอชำระหนี้โดยมุ่งประสงค์ที่จะให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากทรัพย์ที่จำนอง ในส่วนผู้จำนองหากถูกยึดทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ไม่อาจยึดทรัพย์อื่นที่ไม่ได้จำนองไว้ได้ เว้นแต่ลูกหนี้และผู้จำนองจะมีข้อตกลงกับเจ้าหนี้ยอมชำระหนี้ในส่วนที่ขาดจนครบ ซึ่งเป็นข้อตกลงเฉพาะราย แม้จะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ก็ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และข้อที่ว่าสัญญาค้ำประกันไม่ได้กรอกจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ จึงเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ปฏิเสธว่ามิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมทราบถึงการทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งนิติกรรมอื่นที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 การแสดงเจตนาหรือความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อพิจารณาหนังสือสัญญาค้ำประกันแล้วตามข้อ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงจะชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญากู้และนิติกรรมอื่นที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งที่มีอยู่ในวันทำสัญญาหรือที่จะเกิดขึ้นในภายหน้าโดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม กล่าวคือรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินไว้ แต่การค้ำประกันนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 และ 681 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหนี้ที่ค้ำประกันจะต้องมีจำนวนแน่นอน โดยหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขซึ่งเกิดขึ้นได้จริงก็ค้ำประกันได้ หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงมีผลบังคับได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2509/2540 และ 199/2545 ที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นอ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเป็นแนววินิจฉัยได้ ส่วนข้อที่ว่าบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่โจทก์จัดทำขึ้น โดยกำหนดข้อตกลงว่าลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 และผู้จำนองคือจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดหากบังคับจำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ อันเป็นข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นการได้เปรียบจำเลยที่ 1 และที่ 3 เกินสมควร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ให้ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น เห็นว่า การพิจารณาว่าข้อตกลงดังกล่าวที่ทำให้โจทก์ได้เปรียบจำเลยที่ 1 และที่ 3 ที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนั้น ต้องวินิจฉัยไปตามกฎหมายดังกล่าวในมาตรา 10 ที่ให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง (1) ถึง (4) โดยใน (2) ให้พิเคราะห์ถึงปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น ในคดีนี้โจทก์ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ย่อมมีประเพณีและระเบียบปฏิบัติเช่นเดียวกับธนาคารทั่วไป ส่วนจำเลยทั้งสามประกอบธุรกิจค้าพืชผลทางเกษตรและอื่น ๆ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนซึ่งระบุวัตถุประสงค์ไว้ ซึ่งจำเลยทั้งสามต้องอาศัยสินเชื่อจากธนาคารเช่นเดียวกับผู้ประกอบการค้าอื่น ย่อมทราบถึงประเพณีและระเบียบปฏิบัติของธนาคารในการให้สินเชื่อ ในขณะเดียวกันธนาคารก็ต้องจัดทำแบบพิมพ์สัญญาในการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าเป็นการทั่วไป หนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ จึงเป็นไปตามปกติประเพณีของสัญญาดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 3 รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างทราบดีอยู่แล้ว และจะถือว่าโจทก์ได้เปรียบในการต่อรองในการปฏิบัติตามสัญญาและจำเลยทั้งสามต้องรับภาระหนักกว่าโจทก์มาก ตามความในมาตรา 10 (1), (3) และ (4) หาได้ไม่ ข้อตกลงในหนังสือสัญญาจำนองและบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในประการสุดท้ายว่า โจทก์โอนกิจการรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามให้แก่ผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ตามคำร้องของผู้ร้องที่ยื่นไว้ในระหว่างพิจารณาพร้อมกับคำพิพากษา จำเลยทั้งสามจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์เฉพาะคำพิพากษาไม่ได้อุทธรณ์คำสั่ง จนพ้นกำหนดอุทธรณ์แล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงยุติไป จำเลยทั้งสามไม่อาจยกขึ้นฎีกาได้อีก ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้จึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share