คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินที่ตั้งสนามบินเชียงเครือใช้ในราชการของกองทัพอากาศและท่าอากาศยานสกลนครใช้เพื่อกิจการบินพาณิชย์ของกรมการบินพาณิชย์เป็นที่ราชพัสดุ อยู่ในความปกครองดูแลของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังโจทก์กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอธิบดีเป็นผู้แทน อายุความฟ้องผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ราชพัสดุ จึงเริ่มนับแต่วันที่อธิบดีกรมธนารักษ์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับตั้งแต่วันที่เจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกระทรวงในรัฐบาลมีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาที่ราชพัสดุ โจทก์มอบให้อธิบดีกรมธนารักษ์ปฏิบัติราชการแทนในเรื่องการฟ้องคดี และอธิบดีกรมธนารักษ์มอบอำนาจให้อธิบดีกรมการบินพาณิชย์ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน ที่ราชพัสดุตำบลเชียงเครือ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร เนื้อที่ 4,018 ไร่3 งาน 22 เศษ 2 ส่วน 10 ตารางวา ใช้เป็นสนามบินเพื่อประโยชน์ในราชการของกองทัพอากาศ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2508 กองทัพอากาศให้กรมการบินพาณิชย์ใช้เป็นท่าอากาศยานสกลนคร เพื่อกิจการบินพาณิชย์จำเลยที่ 1 เคยเป็นข้าราชการกรมการบินพาณิชย์ เมื่อระหว่างวันที่9-29 มิถุนายน 2526 ขณะเป็นนายท่าอากาศยานสกลนคร จำเลยที่ 1ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ยอมรับเงินจำนวน 5,000 บาท จากจำเลยที่ 2 แล้วยอมให้จำเลยที่ 2 ขุดเอาดินลูกรังในที่ดินท่าอากาศยานไป 21,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้เกิดหลุมกว้าง 75 เมตร ยาว 200 เมตร 1 บ่อ กว้าง 60 เมตร ยาว 100 เมตร1 บ่อ ลึก 1 เมตร ทั้งสองบ่อ ถ้าจะทำให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเดิมโจทก์จะต้องเสียค่าซื้อ ค่าขุดตักและค่าขนส่งดินลูกรังลูกบาศก์เมตรละ 31.48 บาท เป็นเงิน 661,080 บาท กับค่าจ้างบดปรับผิวดินลูกบาศก์เมตรละ 17 บาท เป็นเงิน 357,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย1,018.080 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 190,890 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,208,970 บาทโจทก์ทราบและรู้ตัวผู้ที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 21ธันวาคม 2527 โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรวมกันชำระเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่า ที่ดินที่ตั้งสนามบินเชียงเครือใช้ในราชการของกองทัพอากาศและท่าอากาศยานสกลนครใช้เพื่อกิจการบินพาณิชย์ของกรมการบินพาณิชย์ตามฟ้องเป็นที่ราชพัสดุอยู่ในความปกครองดูแลของกรมธนารักษ์ กรมในสังกัดของโจทก์ ระหว่างวันที่ 9-29 มิถุนายน 2526 จำเลยที่ 2 ได้ใช้รถแทรกเตอร์และรถดั๊มบรรทุกเข้าไปไถขุดตักและขนเอาดินลูกรังไปจากที่ราชพัสดุดังกล่าวทั้งนี้โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายท่าอากาศยานสกลนครขณะนั้นเป็นผู้บอกและตกลงขายดินลูกรังให้แก่จำเลยที่ 2 นาวาอากาศตรีประกอบ อารีรบ หัวหน้าฝ่ายส่งกำลังบำรุงประจำกองบิน 23 จังหวัดอุดรธานี ตรวจพบและแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2526นายวิโรจน์ เลาหพันธ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ทราบจากผู้บัญชาการทหารอากาศที่แจ้งให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2527 ตามเอกสารหมาย ป.จ.1…
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะโจทก์ฟ้องคดีเกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2526 ซึ่งเป็นวันที่มีการแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง และเป็นวันที่โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวจะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นเห็นว่า ที่ราชพัสดุรายนี้อยู่ในความปกครองดูแลรักษาของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีอธิบดีเป็นผู้แทน อายุความฟ้องผู้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ราชพัสดุดังกล่าวจึงเริ่มนับแต่วันที่อธิบดีกรมธนารักษ์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2526ซึ่งเป็นวันที่นาวาอากาศตรีประกอบเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายวิโรจน์ เลาหพันธ์อธิบดีกรมธนารักษ์ ทราบจากผู้บัญชาการทหารอากาศที่แจ้งให้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 19 ธันวาคม 2528 ยังไม่พ้นหนึ่งปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share