คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4052/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทมีราคา 250,000 บาท แต่ปรากฏตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านประสงค์จะให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ให้แก่ผู้คัดค้านและบุตรเจ้ามรดกคนอื่นๆ รวม 5 คน ตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โดยขอให้แบ่งแก่ผู้คัดค้านเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านจะได้รับในฐานะทายาทโดยธรรม อันเป็นการฎีกาในทำนองว่าที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วนของผู้คัดค้านไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงไม่เกินสองแสนบาท คดีของผู้คัดค้านย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นหลานของนายสาและนางบัว เดิมนายสาเป็นเจ้าของที่ดินมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แปลงหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมานายสาได้ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง แต่ยังมิได้โอนทางทะเบียนเป็นชื่อของผู้ร้อง ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากนั้นนายสาถึงแก่ความตาย ครั้นเมื่อปี 2532 ทางราชการได้ดำเนินการเปลี่ยนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เป็นโฉนดที่ดินและได้ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โดยมีชื่อนายสาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งนับตั้งแต่ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องก็ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลากว่า 14 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนายสากับนางบัว มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 5 คน คือ นายพั่ว นางจันทา นายพรหมา ผู้คัดค้าน และนางคำน้อย ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายสาจึงย่อมตกได้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสาส่วนผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของนางจันทามีสิทธิเพียงเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางจันทาภายหลังจากนายสาถึงแก่ความตาย ทายาทของนายสามอบหมายให้ผู้ร้องเข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านและทายาทคนอื่นๆ ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17376 ตำบลสตึก (ปัจจุบันตำบลสะแก) อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินทราบ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้คู่ความตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 1 มีนาคม 2547 ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17376 มีราคา 250,000 บาท แต่ปรากฏตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านประสงค์จะให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายสาให้แก่ผู้คัดค้านและบุตรเจ้าของมรดกคนอื่นๆ รวม 5 คน ตามส่วนที่แต่ละคนมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย โดยขอให้แบ่งแก่ผู้คัดค้านเฉพาะส่วนที่ผู้คัดค้านจะได้รับในฐานะทายาทโดยธรรมอันเป็นการฎีกาในทำนองว่าที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วนของผู้คัดค้านไม่ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างผู้ร้องก้บผู้คัดค้านจึงไม่เกินสองแสนบาท คดีของผู้คัดค้านย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายสาบิดาผู้คัดค้าน ผู้ร้องซึ่งเป็นหลานของนายสาครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนทายาทคนอื่นๆ ของนายสา จึงไม่อาจร้องขอครอบครองปรปักษ์ได้ ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของผู้คัดค้านไว้เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้คัดค้าน คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่ผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share