คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการที่ญาติของโจทก์ย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาล พ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาล ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล ษ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของเอกชนที่จำเลยมิได้กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น เป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ อีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าการที่โจทก์ย้ายไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลของเอกชนนั้น ต้องถือว่าเป็นกรณีจำเป็นที่โจทก์ต้องได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ มาตรา 59 ซึ่งโจทก์มีสิทธิขอรับเงินค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรกโดยไม่รวมระยะเวลาวันหยุดราชการ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตากเลขที่ 01/339/43 และคำวินิจฉัยที่ 1136/2543 คณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะส่วนที่ปฏิเสธจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นจำนวนเงิน 231,268 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (19 กุมภาพันธ์ 2544) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางและเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31, 54 จึงไม่รับอุทธรณ์

จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ทำผิดเงื่อนไขที่กฎหมายระบุไว้คือ ให้โจทก์รักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิหรือโรงพยาบาลในเครือเท่านั้น จึงจะได้รับเงินตามที่เรียกร้องการที่ญาติของโจทก์ย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาลในเครือตามสิทธิไปรักษายังโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิของตนนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์จะเรียกร้องค่าบริการเฉพาะที่เกิดขึ้นจริงเกินกว่า 72 ชั่วโมงได้หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่จำเลยได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางโปรดรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาต่อไป

ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 2.1 ที่ว่าในเรื่องการรักษาพยาบาลโจทก์ของโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับโรงพยาบาลพระพุทธชินราชนั้น หากเป็นความผิดก็เป็นความผิดของโรงพยาบาลทั้งสองไม่ใช่ความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยชอบแล้ว

ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 ที่ว่า การที่ญาติของโจทก์ย้ายโจทก์ออกจากโรงพยาบาลพระพุทธชินราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของเอกชนที่จำเลยมิได้กำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้นเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคมอีกจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย และอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 ที่ว่า การที่ญาติโจทก์ย้ายโจทก์ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพิษณุเวชนั้นต้องถือว่าเป็นกรณีจำเป็นที่โจทก์ต้องได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 มาตรา 59 ซึ่งโจทก์มีสิทธิขอรับเงินค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่เวลาที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก โดยไม่รวมระยะเวลาวันหยุดราชการ จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หาใช่เป็นเงิน 231,268 บาทตามฟ้องไม่ อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลางก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 และ 2.2 ไว้ดำเนินการต่อไป”

Share