คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร แต่มีการบัญญัติถึงบุตรไว้สองแบบ กล่าวคือ ตามมาตรา 73 (2) เกี่ยวกับเงินสงเคราะห์ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ใช้คำว่า “บุตร” ส่วนมาตรา 75 ตรี และมาตรา 77 จัตวา (1) ใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อใช้คำต่างกันในกฎหมายเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่าประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า “บุตร” แตกต่างไปจากคำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันเนื่องมาจากการทำงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส และเมื่อพิจารณาถึงเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา 73 (2) (ก) และ (ข) ก็คือเงินสมทบส่วนหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้ส่งไว้แล้ว กฎหมายจึงบัญญัติให้เฉลี่ยจ่ายแก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน จึงเห็นได้ว่าตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 (2) จึงมิได้หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. เท่านั้น แต่รวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสิบสามจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 73 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายจือ แซ่ฮึง ผู้ประกันตนซึ่งเป็นบิดาที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสิบสามได้ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสิบสามในฐานะบุตรที่แท้จริงจึงได้ยื่นเรื่องขอรับเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายจากสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 แต่ได้รับการปฏิเสธโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสิบสามได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ก็ยังมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบสาม โดยอ้างเหตุผลว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน คำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสิบสาม ทำให้โจทก์ทั้งสิบสามได้รับความเสียหายขอเรียกค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2546 อันเป็นวันที่ปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 และให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้โจทก์ทั้งสิบสามจำนวน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 และให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาได้ความว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรของนางชุนหง ปิงสุทธิวงศ์ กับนายจือ ผู้ประกันตน ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2546 ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายด้วยอาการเส้นเลือดหัวใจตีบและปอดอักเสบ โจทก์ทั้งสิบสามได้ยื่นคำขอรับเงินประโยชน์ทดแทนในกรณีตาย คือเงินสงเคราะห์ต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 2 พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งว่า โจทก์ทั้งสิบสามมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ โจทก์ทั้งสิบสามอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยที่ 796/2546 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ให้ยกอุทธรณ์ โดยวินิจฉัยว่า มารดาของโจทก์ทั้งสิบสามมิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ประกันตน โจทก์ทั้งสิบสามจึงมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน ไม่มีสิทธิรับเงินประโยชน์ทดแทนที่เป็นเงินสงเคราะห์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ในฐานะบุตรตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) หรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า บุตรที่จะได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายจะต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “บุตร” ว่ามีความหมายอย่างไร ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มีการบัญญัติถึงบุตรไว้สองแบบ กล่าวคือ ในหมวด 5 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีตามมาตรา 73 (2) เกี่ยวกับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายใช้คำว่า “บุตร” ส่วนในหมวด 6 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรตามมาตรา 75 ตรี ใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” และในหมวด 7 ว่าด้วยประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ตามมาตรา 77 จัตวา (1) ใช้คำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อใช้คำต่างกันในพระราชบัญญัติเดียวกันเช่นนี้ แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ความหมายของคำว่า “บุตร” แตกต่างไปจากคำว่า “บุตรชอบด้วยกฎหมาย” เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่น โดยจัดตั้งกองทุนประกันสังคมขึ้นมาเพื่อให้การสงเคราะห์แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตายอันมิใช่เนื่องมาจากการทำงาน ทั้งนี้ โดยมุ่งหมายให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว ซึ่งลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักจะอยู่กินฉันสามีภริยากัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามมาตรา 73 (2) (ก) และ (ข) ก็คือเงินสมทบส่วนหนึ่งที่ผู้ประกันตนได้ส่งไว้แล้วกฎหมายจึงบัญญัติให้เฉลี่ยจ่ายแก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน จึงเห็นว่าตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 คำว่า “บุตร” ตามมาตรา 73 (2) จึงมิได้หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่จำเลยอุทธรณ์มาเท่านั้น แต่รวมถึงบุตรอันแท้จริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามเป็นบุตรอันแท้จริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสิบสามจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (2) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share