แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามบัญชีพยานอันดับ 1 ในช่องชื่อพยาน โจทก์ระบุว่าผู้รับมอบอำนาจขออ้างตนเองเป็นพยานโดยมิได้ระบุที่อยู่ของพยานเป็นการระบุถึงสถานะของพยานโจทก์ว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ปรากฏตามฟ้องว่าผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์คือ ข. ส่วน ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ข. แม้ตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ให้อำนาจข. มอบอำนาจช่วงได้ แต่สถานะของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงต่างกันจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ระบุ ป. เป็นพยาน แต่โจทก์นำ ป. มาเบิกความเพื่อประกอบเอกสารที่แสดงว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างคงนำสืบเพียงว่า การที่กรรมการของจำเลยลงชื่อในใบสั่งซื้อคนเดียวแสดงว่าจำเลยมิได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์นำ ป. เข้าเบิกความ จำเลยก็มิได้คัดค้าน กรณีไม่ปรากฏว่าโจทก์ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี อีกทั้งจำเลยไม่เสียเปรียบและไม่เสียหาย ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังคำเบิกความของ ป. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
ตามหนังสือรับรองระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้ง ว. ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่ ว. ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่ง พนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมา ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้ว แม้เป็นการยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์นั้นแต่ทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายขวัญชัย ตันยลักษณ์ เป็นผู้ฟ้องร้องและดำเนินคดีแทน กับให้มีอำนาจในการมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นฟ้องคดีแทนได้ นายขวัญชัยได้มอบอำนาจช่วงให้นายประธาน บุญปลูก เป็นผู้มีอำนาจฟ้องร้องและดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 จำเลยได้สั่งซื้อเครื่องปั๊มลม และถังเก็บลมพร้อมอุปกรณ์ รวมราคา 275,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 19,250 บาท รวมค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 294,250 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระภายใน 30 วัน (ที่ถูกภายใน 90 วัน) นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้วางบิลเรียกเก็บเงิน แต่จำเลยผิดนัดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมเป็นเงิน 294,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 584วัน เป็นเงิน 35,309 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 329,559 บาท ขอบังคับให้จำเลยชำระเงิน 329,559 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 294,250 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายขวัญชัยมิใช่ผู้รับมอบอำนาจที่แท้จริง จึงไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นายประธานดำเนินคดีแทน จำเลยไม่เคยสั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์หากมีการสั่งซื้อก็เป็นการสั่งซื้อโดยส่วนตัวของนายวีรยุทธ์ ศุภพิพัฒน์ กรรมการจำเลยแต่เพียงผู้เดียว และฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความเพราะมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปี นอกจากนี้การที่โจทก์นำภาษีมูลค่าเพิ่มมารวมเข้ากับราคาสินค้าไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์ไม่เสียหายในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่อาจเรียกดอกเบี้ยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 294,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ศาลรับฟังคำเบิกความของนายประธาน บุญปลูก เป็นพยานได้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ระบุพยานเพียงว่า ผู้รับมอบอำนาจขออ้างตนเองเป็นพยาน เป็นการมิได้ระบุรายชื่อและที่อยู่ของบุคคลไว้โดยชัดแจ้งในบัญชีระบุพยาน อีกทั้งนายประธานเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงมิใช่ผู้รับมอบอำนาจ ถือว่าโจทก์มิได้ระบุพยานไว้จึงต้องห้ามมิให้รับฟังพิเคราะห์แล้ว ตามบัญชีพยานลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 อันดับ 1 ในช่องชื่อพยานโจทก์ระบุว่าผู้รับมอบอำนาจขออ้างตนเองเป็นพยานโดยมิได้ระบุที่อยู่ของพยาน การระบุดังกล่าวเป็นการระบุถึงสถานะของพยานโจทก์ที่จะนำมาเบิกความต่อศาลว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ปรากฏตามฟ้องและเอกสารหมาย จ.2 จ.3 ว่า ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ คือ นายขวัญชัย ตันยลักษณ์ ผู้จัดการแผนกสินเชื่อของโจทก์ ส่วนนายประธานเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจากนายขวัญชัย แม้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6 โจทก์ให้อำนาจนายขวัญชัยมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ แต่สถานะของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงต่างกัน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ระบุนายประธานเป็นพยาน แต่โจทก์นำนายประธานมาเบิกความเพื่อประกอบเอกสารที่แสดงว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว ต่อมานายวีรยุทธ์ ศุภพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการจำเลยได้มีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงตามเอกสารเหล่านี้ คงนำสืบเพียงว่า การที่กรรมการของจำเลยลงชื่อในใบสั่งซื้อคนเดียวแสดงว่าจำเลยมิได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์นำนายประธานเข้าเบิกความ จำเลยมิได้คัดค้านว่าโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานปากนี้ กรณีไม่ปรากฏว่าโจทก์ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี อีกทั้งจำเลยไม่เสียเปรียบและไม่เสียหาย ดังนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังคำเบิกความของนายประธานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อที่สองว่า จำเลยมิได้ซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์ เห็นว่า โจทก์มีนายประธานผู้รับมอบอำนาจช่วงและเป็นพนักงานเร่งรัดหนี้สินของโจทก์มาเบิกความประกอบใบสั่งซื้อ ใบส่งของ ใบวางบิล และหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เป็นวัสดุก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.5 จ.6 จ.7 และ จ.8 ตามลำดับว่า เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2539 จำเลยได้สั่งซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์ ราคาสินค้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน294,250 บาท วันที่ 3 ตุลาคม 2539 โจทก์ส่งสินค้าไปยังที่ทำการของจำเลย พนักงานของจำเลยได้ลงชื่อรับของแล้ว วันที่ 20 มกราคม 2540 โจทก์ส่งใบวางบิลให้จำเลย พนักงานของจำเลยรับแล้วนัดชำระเงินวันที่ 21 เมษายน 2540 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน2541 จำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เป็นวัสดุก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.8 ไปยังโจทก์ ปรากฏว่าใบสั่งซื้อและหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เป็นวัสดุก่อสร้างใช้กระดาษแบบพิมพ์ของจำเลย นายวีรยุทธ์ ศุภพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการของจำเลยลงชื่อสั่งซื้อและลงชื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้ จำเลยมิได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ แม้ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.4 ระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้งนายวีรยุทธ์ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่นายวีระยุทธ์กรรมการคนหนึ่งของจำเลยเป็นผู้ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นกระดาษแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่งพนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมานายวีรยุทธ์ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้เป็นวัสดุก่อสร้าง โดยใช้กระดาษแบบพิมพ์ของจำเลยอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยรู้แล้วยอมให้นายวีรยุทธ์เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าตามฟ้องของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในกำหนด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แก่โจทก์เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้นเมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้วแม้เป็นการยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์นั้น แต่ทนายโจทก์ได้ปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนี้ในชั้นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์มีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน