แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 กำหนดให้เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต และอธิบดีกรมสรรพสามิตได้วินิจฉัยให้สิ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 03.01 คือ (1) COOLING UNIT หรือ FAN COIL UNIT หรือ INDOOR UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็น (EVAPORATOR) และพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ (2) CONDENSING UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน (CONDENSER) พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์ (COMPRESSOR) ตามคำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ ชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์ จึงเป็นเครื่องปรับอากาศตามคำสั่งกรมสรรพสามิตดังกล่าว
ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแนบท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเห็นว่ากรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศและมีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 ดังกล่าว และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ลงวันที่ 22 เมษายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ดังนั้น คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว
เครื่องปรับอากาศที่ยึดจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าในการกระทำความผิดฐานนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมตามมาตรา 147 จึงต้องริบเครื่องปรับอากาศดังกล่าวเป็นของกรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 168 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19, 147 (1) แล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 (1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้นเป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 7, 10, 19, 48, 53, 132, 147, 161, 162, 164, 167, 168 พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5 พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 ท้าย พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ป.อ. มาตรา 83, 91 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147 (1), 161 (1), 162 (1), 164, 167 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91
ริบเครื่องปรับอากาศของกลาง 455 เครื่อง เป็นของกรมสรรพสามิต ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสรรพสามิตต่อกรมสรรพสามิต เพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศชื่อโรงงาน ที. เอ. แอร์ นับแต่จดทะเบียนสรรพสามิตแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยยื่นแบบรายการเสียภาษีต่อกรมสรรพสามิตจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าตรวจค้นโรงงาน ที. เอ. แอร์ และที่สำนักงานใหญ่ รวมทั้งที่สาขาอีกสามแห่งของจำเลยที่ 1 จากการตรวจค้นที่สำนักงานใหญ่ พบสินค้าเครื่องปรับอากาศจำนวน 997 เครื่อง ส่วนที่สาขาปิ่นเกล้าพบสินค้าเครื่องปรับอากาศของกลาง จำนวน 455 เครื่อง เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนว่า เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องปรับอากาศตามความหมายแห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 กำหนดให้เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและอธิบดีกรมสรรพสามิตได้วินิจฉัยให้สิ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 03.01 คือ (1) COOLING UNIT หรือ FAN COIL UNIT หรือ INDOOR UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็น (EVAPORATOR) และพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ (2) CONDENSING UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน (CONDENSER) พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอมเพรสเซอร์ (COMPRESSOR) ตามคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 ดังนั้น เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ ชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ จำนวน 807 เครื่อง และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์จำนวน 645 เครื่อง เป็นเครื่องปรับอากาศตามคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า เครื่องปรับอากาศต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นแฟนคอยล์ ยูนิท และคอนเดนซิ่ง ยูนิท และพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลม ซึ่งขับด้วยมอเตอร์และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 ที่ตีความว่า แฟนคอยล์ ยูนิท และคอนเดนซิ่ง ยูนิท ต่างเป็นเครื่องปรับอากาศ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและไม่ใช่กฎหมาย รับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ได้บัญญัติว่า อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศ และมีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตลงวันที่ 22 เมษายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ดังนั้น คำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง ที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดได้จากสำนักงานใหญ่หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยยื่นแบบรายการเสียภาษีต่อกรมสรรพสามิต เพียงแต่ส่งงบเดือนแสดงรายการเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิต การจำหน่าย และยอดคงเหลือสินค้าประจำเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2536 โดยระบุว่า “ไม่มีรายการ” และในเดือนมกราคม 2537 ระบุว่า “ไม่มีรายการ เนื่องจากสินค้าถูกอายัด” ต่อมาเมื่อต้นเดือนมกราคม 2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้ตรวจพบโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่ามีการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ที่บริษัท ที. เอ. แอร์ จำกัด สาขารามคำแหง จากการตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเครื่องปรับอากาศดังกล่าวออกมาวางจำหน่ายที่บริษัท ที. เอ. แอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ สถานที่ดังกล่าวเป็นห้องกระจกมีลักษณะเป็นโชว์รูมขายสินค้า เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าทำการตรวจค้นพบเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง แยกเป็นชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท 670 เครื่อง และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท 327 เครื่อง บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษพร้อมที่จะจำหน่าย จึงยึดไว้ เครื่องปรับอากาศดังกล่าวเป็นสินค้าในการกระทำความผิด ตามมาตรา 147 จึงให้ริบเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง ที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดได้จากสำนักงานใหญ่เป็นของกรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 168 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19, 147 (1) แล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาปิ่นเกล้า เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 (1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทหนัก ตาม ป.อ. มาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147 (1), 161 (1), 162 (1), 164, 167 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีออกไปจากโรงอุตสาหกรรมปรับคนละ 5,182,590 บาท ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตามมาตรา 161 (1) และฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตามมาตรา 162 (1) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปรับคนละ 5,182,590 บาท รวมปรับคนละ 10,385,180 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับคนละ 6,923,453.33 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางรวมจำนวน 1,452 เครื่อง เป็นของกรมสรรพสามิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.