คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4031/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อวินิจฉัยในคดีขอคืนของกลางกับคดีเดิม มีปัญหาวินิจฉัยต่างกัน ไม่อาจนำมาสรุปเป็นเหตุและผลแก่กันได้ การที่ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษผู้ร้องในทางอาญานั้น หาเป็นผลทำให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปไม่ ผู้ร้องยังคงต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติไว้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและขอให้ริบไม้และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80-3494 อบ.32 ของกลางในคดีด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษปรับคนละ 1,600 บาทจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 1,200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ริบไม้กับรถยนต์บรรทุกของกลาง จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน1,066.67 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาพิพากษายืน จำเลยที่ 2จึงมาร้องขอให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางโดยอ้างว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นของผู้ร้อง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ขอให้สั่งคืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางหากจะฟังว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องก็เป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด รถยนต์บรรทุกของกลางเป็นรถขนาดใหญ่ การนำไปใช้ผู้ร้องย่อมทราบดี ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางที่ศาลสั่งริบ ปัญหาวินิจฉัยในชั้นฎีกาคงมีเพียงว่า ผู้ร้องรู้เห็นไปใจในการกระทำผิดคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบพิสูจน์ให้ได้ความเช่นนั้น คดีนี้ผู้ร้องนำสืบแต่เพียงว่า ผู้ร้องได้ให้นายวัวเรียนลูกจ้างของผู้ร้องขอยืมรถไปบรรทุกข้าว ระหว่างเกิดเหตุ ผู้ร้องไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งโจทก์คัดค้านว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ได้ให้การว่า จำเลยที่ 2หรือผู้ร้องเป็นคนขับรถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกไม้ที่ถูกจับและได้หลบหนีไปขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้รถจอดเพื่อตรวจค้น ผู้ร้องคงอ้างตนเองเบิกความเป็นพยานเท่านั้นโดยหาได้นำนายบังเรียนที่ผู้เรียกร้องอ้างว่าเป็นคนยืมรถไปใช้มาสืบ หรือได้นำพยานฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุมาสืบสนับสนุนข้ออ้างของผู้ร้องไม่ สำหรับที่ผู้ร้องนำจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นพยานว่าคนขับรถยนต์บรรทุกของกลางมิใช่ผู้ร้องนั้น ก็ขัดกับที่จำเลยที่ 1เคยให้การไว้ในชั้นจับกุมตามเอกสารหมาย จ.1 และในคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งได้ให้การไว้ว่าผู้ร้องเป็นคนขับที่หลบหนีไป การที่จำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นอีกอย่างหนึ่งเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นการเบิกความเพื่อช่วยเหลือผู้ร้องให้ได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืน คำเบิกความของจำเลยที่ 1จึงรับฟังไม่ได้ พยานของผู้ร้องจึงมีเพียงคำเบิกความของผู้ร้องลอย ๆหามีพยานอื่นใดสนับสนุนไม่ ข้อนำสืบของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ และที่ผู้ร้องอ้างในฎีกาว่าศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องผู้ร้องแล้วจึงฟังได้ว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำผิดหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องจึงควรได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนนั้น เห็นว่า ข้อวินิจฉัยในคดีเดิมกับคดีขอคืนของกลางมีปัญหาวินิจฉัยต่างกัน จะนำมาสรุปเป็นเหตุและผลแก่กันไม่ได้ การที่ศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังลงโทษผู้ร้องในทางอาญานั้น หาเป็นผลทำให้ผู้ร้องมีสิทธิได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปไม่ ผู้ร้องยังคงต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36บัญญัติไว้ เมื่อพยานหลักฐานของผู้ร้องรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิดดังได้วินิจฉัยมาแล้วผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง”
พิพากษายืน

Share