คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 403/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน การที่จำเลยให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งก็เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง เงินกองทุนสงเคราะห์ จำเลยจัดให้มีขึ้นต่างหากจากค่าชดเชยและมีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์พนักงานและทายาท ซึ่งเรียกเก็บจากพนักงานเป็นรายเดือน ส่วนเงินบำเหน็จบำนาญเป็นเงินตอบแทนแก่ลูกจ้างที่ทำงานมาด้วยดีจนถึงวันออกจากงาน ซึ่งจำเลยจ่ายโดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณต่างจากวิธีคำนวณค่าชดเชยเงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยกับเงินบำเหน็จบำนาญมิใช่ค่าชดเชยจึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก จำเลยไม่ได้กำหนดให้โจทก์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ในช่วงใดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่า โจทก์ไม่ใช่สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเองเมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดตามประกาศดังกล่าวข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ และกรณีมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 27 โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟ้องว่า จำเลยได้จ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเป็นลูกจ้าง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2533 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ด เพราะเหตุเกษียณอายุโดยโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดไม่มีความผิด แต่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดไม่ครบถ้วน ขอให้จ่ายค่าชดเชยส่วนที่ยังขาดอยู่และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์แต่ละคนตามคำขอท้ายฟ้อง จำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินใด ๆ จากจำเลยอีก วันนัดพิจารณา โจทก์จำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเป็นลูกจ้างของจำเลย ค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์แต่ละคนปรากฏตามฟ้อง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเพราะเหตุเกษียณอายุ โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดมีอายุการทำงานติดต่อกันเกินกว่า3 ปีแล้ว สำหรับโจทก์ที่ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ดังกล่าวมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีเหลืออยู่ตามคำให้การของจำเลย และหากโจทก์ดังกล่าวมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแล้ว จำนวนเงินที่มีสิทธิได้รับก็เป็นไปตามคำให้การของจำเลย เมื่อจำเลยให้โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะเหตุเกษียณอายุ จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทุกคนเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน ตามบันทึกเอกสารหมาย จล.1 และจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์ทุกคนตามที่จำเลยให้การ ตามระเบียบว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้างของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519เอกสารหมาย จล.3 จ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยให้โจทก์ทุกคนตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์พนักงานและคนงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 เอกสารหมาย จล.2 และจำเลยมีประกาศการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรื่องการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างและพนักงาน ฉบับลงวันที่ 21 มกราคม 2520 ตามเอกสารหมาย จล.4 และโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดแถลงว่าไม่ติดใจเรียกดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้องศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 66,900 บาทแก่โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 50,100 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 8,668.58 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,870 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 5,965 บาท แก่โจทก์ที่ 3 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 44,640 บาทและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,186.64 บาทแก่โจทก์ที่ 4 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 44,640 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,186.64 บาท แก่โจทก์ที่ 5 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,180 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 8,858.56 บาท แก่โจทก์ที่ 6 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,870 บาทและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 5,552 บาท แก่โจทก์ที่ 7 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 44,640 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 5,218.64 บาท แก่โจทก์ที่ 8 จ่ายค่าชดเชยจำนวน44,640 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 4,318.31บาท แก่โจทก์ที่ 9 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,180 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 6,515.26 บาท แก่โจทก์ที่ 10จ่ายค่าชดเชยจำนวน 50,100 บาท แก่โจทก์ที่ 11 จ่ายค่าชดเชยจำนวน47,280 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน9,047.94 บาท แก่โจทก์ที่ 12 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 56,280 บาทแก่โจทก์ที่ 13 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 56,280 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 11,289.27 บาท แก่โจทก์ที่ 14จ่ายค่าชดเชยจำนวน 37,710 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 7,892 บาท แก่โจทก์ที่ 15 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 56,280บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 11,914.60 บาทแก่โจทก์ที่ 16 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,630 บาท แก่โจทก์ที่ 17จ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,870 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 8,358.64 บาท แก่โจทก์ที่ 18 จ่ายค่าชดเชยจำนวน50,100 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 9,459.88บาท แก่โจทก์ที่ 19 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 29,790 บาท แก่โจทก์ที่ 20จ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,870 บาท แก่โจทก์ที่ 21 จ่ายค่าชดเชยจำนวน37,710 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 6,216 บาทแก่โจทก์ที่ 22 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 39,870 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำนวน 7,737 บาท แก่โจทก์ที่ 23 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 33,630 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 5,378.56 บาท แก่โจทก์ที่ 24 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 42,180 บาทและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 8,858.56 บาท แก่โจทก์ที่ 25 จ่ายค่าชดเชยจำนวน 27,960 บาท แก่โจทก์ที่ 26 และจ่ายค่าชดเชยจำนวน 26,220 บาท แก่โจทก์ที่ 27 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกจำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงานเพราะเหตุเกษียณอายุตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้วมิใช่เพราะการเลิกจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และมาตรา 11 ที่กำหนดให้พนักงานที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นเพียงบทกำหนดคุณสมบัติและเหตุที่พนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกัน การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดพ้นจากตำแหน่งก็เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสอง
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อที่สองว่า เงินบำเหน็จบำนาญและเงินกองทุนสงเคราะห์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดเมื่อออกจากงานมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชย จึงถือว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้ว เห็นว่าเงินกองทุนสงเคราะห์นั้น จำเลยจัดให้มีขึ้นต่างหากไปจากค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์พนักงานและทายาท เงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเรียกเก็บจากพนักงานเป็นรายเดือนส่วนเงินบำเหน็จบำนาญเป็นเงินตอบแทนแก่ลูกจ้างที่ทำงานมาด้วยดีจนถึงวันออกจากงาน ซึ่งจำเลยจ่ายโดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณทำนองเดียวกับกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ซึ่งต่างจากวิธีคำนวณค่าชดเชย เงินกองทุนสงเคราะห์และดอกเบี้ยกับเงินบำเหน็จบำนาญจึงมิใช่ค่าชดเชย แม้จะมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชยก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งยี่สิบเจ็ดที่จะเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก
จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า โจทก์ที่ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี รู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องเกษียณอายุแต่ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเห็นว่า ตามสำนวนไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดให้โจทก์ดังกล่าวลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ในช่วงใด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 10 จำเลยจึงไม่อาจอ้างได้ว่า โจทก์ดังกล่าวไม่ใช่สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีเอง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโดยที่โจทก์ดังกล่าวมิได้กระทำความผิด ตามประกาศดังกล่าว ข้อ 47 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ดังกล่าวและกรณีมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งยี่สิบเจ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share