คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4018/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์โดยสารรถยนต์ที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับขี่ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโจทก์ต้องลางานเพื่อพักรักษาตัวจนเกินกว่าระยะเวลาที่นายจ้างของโจทก์กำหนดให้ นายจ้างจึงไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์เพราะลาเกินสิทธิ เมื่อการพิจารณาขั้นเงินเดือนมีอัตรากำหนดแน่นอนอยู่แล้ว การที่โจทก์ไม่ได้เลื่อนขั้นเงินเดือน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของลูกจ้าง ซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสาร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ โจทก์ได้โดยสารรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 1 จากกรุงเทพมหานครไปจังหวัดลำปาง โดยมีนายประเวทย์ โคเซียน ลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1เป็นคนขับ นายประเวทย์ ได้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีนายพร ไม่ทราบนามสกุลเป็นคนขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวเครื่องยนต์ชำรุดจอดอยู่ข้างทางด้านซ้ายของถนน นายพรได้งดเว้นการทำสัญญาณเครื่องหมายหรือจัดการใด ๆ ให้ผู้ขับขี่ยวดยานเห็นว่ามีรถยนต์เสียจอดอยู่ข้างทาง ทำให้โจทก์และคนโดยสารอีกหลายคนได้รับอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสองในฐานะนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการละเมิดของนายประเวทย์และนายพรลูกจ้างที่กระทำไปในทางการที่จ้าง จากการทำละเมิดดังกล่าวข้างต้นโจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาท่อนล่างหักทั้งสองข้าง เอ็นหัวเข่าข้างซ้ายฉีกขาดริมฝีปากได้รับบาดเจ็บและฟันโยกคลอน นอกจากค่ารักษาพยาบาลซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชดใช้แล้ว โจทก์ขอคิดค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 อีกดังนี้คือ ขาท่อนล่างหักกระดูกป่นแตกทั้งสองข้าง แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลแล้วก็ไม่สามารถใช้ได้ดีเหมือนเดิม เป็นเงิน 80,000 บาท เอ็นหัวเข่าข้างซ้ายฉีกขาดต้องผ่าตัดต่อเอ็น ไม่สามารถใช้ได้ดีเหมือนเดิมเป็นเงิน 30,000 บาท ได้รับบาดเจ็บเป็นแผลทะลุใต้ริมฝีปากต้องเย็บ 4 เข็ม และฟันหน้าโยกคลอน 4 ซี่ ไม่สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ดีเหมือนเดิม เป็นเงิน 20,000 บาท ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและจิตใจตลอดระยะเวลาที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 4 เดือนเศษเป็นเงิน 50,000 บาท รวมค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงินทั้งสิ้น 180,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังต้องขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ ซึ่งโจทก์มีอาชีพเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะเกิดเหตุมีรายได้เป็นเงินเดือน เดือนละ 8,540บาท และค่าครองชีพอีกเดือนละ 300 บาท ซึ่งตามข้อบังคับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 34) เรื่อง การลา บัญญัติมีสาระสำคัญว่า การลาป่วยกรณีพิเศษ พนักงานธนาคารผู้มีเวลาทำงานไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินเดือนเต็มเดือนไม่เกิน 30 วัน และรับเงินเดือนกึ่งหนึ่งไม่เกิน 30 วัน ส่วนวันลาป่วยที่เกิดนอกเหนือจากนี้จะไม่ได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพเลย โจทก์ได้ยื่นใบลาป่วยกรณีพิเศษ 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2525 ถึงวันที่30 เมษายน 2526 อันเป็นเหตุให้ธนาคารตัดเงินเดือนโจทก์ตามข้อบังคับดังกล่าว โจทก์ขอคิดค่าเสียหายดังนี้ เงินเดือนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ได้รับเพียง 6,405 บาท ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ไปเป็นเงิน 2,135 บาท เงินเดือนประจำเดือนมีนาคม 2526 โจทก์ได้รับเพียง 3,994.52 บาท และค่าครองชีพอีก280.65 บาท ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ไปเป็นเงิน 4,564.83 บาทเงินเดือนประจำเดือนเมษายน 2526 โจทก์ไม่ได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพเลย ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ไปเป็นเงิน 8,840 บาท การที่โจทก์ต้องลาป่วยกรณีพิเศษทำให้ระยะเวลาการทำงานในครึ่งปีแรกขาดไป 1 เดือน 2 วัน ทำให้โจทก์ได้รับเงินโบนัสเพียง 9,613.32 บาทซึ่งหากโจทก์ไม่ลาป่วยจะได้รับเงินโบนัสเป็นเงิน 12,810 บาทโจทก์ขาดประโยชน์ไปเป็นเงิน 3,196.68 บาท จากการที่โจทก์ต้องลาป่วยกรณีพิเศษดังกล่าวเป็นผลให้อัตราเงินเดือนประจำปีพ.ศ. 2526 ของโจทก์ไม่ได้เพิ่มขึ้น 1 ขั้น เป็นเงิน 520 บาททำให้โจทก์ขาดประโยชน์จากการทำมาหาได้ตามปกติ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ถึงปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีที่โจทก์ต้องเกษียณอายุเป็นเวลา 30 ปี เป็นเงิน 187,200 บาท รวมค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 205,936.51 บาท นอกจากนี้เนื่องจากเหตุละเมิดดังกล่าวทำให้นาฬิกาข้อมือของโจทก์สูญหายไป คิดราคาเป็นเงิน 1,800 บาท และระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมารดาและญาติต้องเดินทางมาคอยดูแล เสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงิน12,000 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินทั้งสิ้น 399,736.51 บาทโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 24,983.53 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น424,720.04 บาท ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 399,736.51 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของผู้รอบครองรถยนต์โดยสารและมิได้เป็นนายจ้างของนายประเวทย์ โคเซียนเหตุที่เกิดขึ้นมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายประเวทย์ผู้ขับรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายพรผู้ขับรถยนต์บรรทุก โดยนายพรได้จอดรถยนต์บรรทุกล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์โดยสาร โดยมิได้จัดการให้มีสัญญาณใด ๆ ทำให้นายประเวทย์ไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกรถได้ทันเนื่องจากขณะเกิดเหตุมีรถอื่นแล่นสวนทางมา โจทก์เรียกค่าเสียหายมากเกินความเป็นจริง และไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่ไม่ได้เพิ่มเงินเดือน 1 ขั้น ประจำปี พ.ศ. 2526 เพราะเป็นเรื่องไม่แน่นอนกับไม่มีสิทธิเรียกร้องราคานาฬิกาที่สูญหายไปและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของญาติก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้ทวงถาม
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีลูกจ้างชื่อนายพร และผู้ขับรถยนต์บรรทุก คันหมายเลขทะเบียน 80-0914 ตากในขณะเกิดเหตุมิได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด เหตุที่เกิดขึ้นจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-9525 กรุงเทพมหานคร ได้ขับแซงรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-0914 ตาก โดยไม่ได้ให้สัญญาณและเว้นระยะให้ห่างพอควร จึงแซงไม่พ้นและชนท้ายรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-0914 ตาก พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นแล้วว่าเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน10-9525 โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง โจทก์เสียหายไม่เกิน 20,000 บาท ทรัพย์สินของโจทก์ไม่ได้สูญหายและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้จ่ายของญาติที่ไปเยี่ยมโจทก์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน100,536.51 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 182,936.51 บาท กับดอกเบี้ยในจำนวนเงิน 120,536.51 บาท และดอกเบี้ยในจำนวนเงิน 62,400 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์โดยสาร เป็นนายจ้างของนายประเวทย์ผู้ขับรถคันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้100,536.51 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดเพิ่มขึ้นอีก 82,400 บาท ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีเพียงว่าจำเลยที่ 1 ควรรับผิดเพิ่มอีก 82,400 บาทหรือไม่
ส่วนค่าเสียหายรายการที่สองที่โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือน 1 ขั้น ทำให้โจทก์ได้รับเงินเดือนขาดไปเดือนละ520 บาท ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุและไม่แน่นอน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเป็นเหตุที่เกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 1 จึงกำหนดให้โจทก์ได้รับ62,400 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เป็นค่าเสียหายไกลกว่าเหตุและไม่แน่นอน จึงรับฟังได้ว่าเหตุที่โจทก์ไม่ได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนเพราะลาเกินสิทธิ และการลาเกินสิทธิของโจทก์ก็เพราะได้รับบาดเจ็บจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายประเวทย์ลูกจ้างซึ่งกระทำในทางการที่จ้างซึ่งกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การพิจารณาขึ้นเงินเดือนมีอัตรากำหนดอยู่แน่นอนแล้วจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิด”
พิพากษายืน

Share