คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาชื่อสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินสดขาดบัญชีระหว่างที่จำเลย เป็นผู้จัดการร้านโจทก์ความว่าข้อ 1.จำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินสด ขาดบัญชีที่ผู้สอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบระหว่างจำเลยเป็น ผู้จัดการร้านโจทก์เป็นเงิน 36,667.75 บาท และยอดเงินสดคงเหลือ เมื่อวันจำเลยออกจากตำแหน่งผู้จัดการร้านโจทก์มีเงินขาดบัญชีอีก 15,738.21 บาทข้อ 2. จำเลยขอเวลาทำการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชี ตามที่ผู้สอบบัญชีอ้างว่ามีเงินสดขาดบัญชีเพื่อความแน่นอนเป็นเวลา 3 เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากพบหลักฐานการเงินที่สามารถนำมา หักกลบลบเงินขาดบัญชีโดยผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการ ของร้านโจทก์ยินยอมเห็นชอบด้วย จำเลยยินยอมชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่ ให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยได้ตรวจสอบบัญชีตามสัญญาข้อ 2. และแจ้ง ให้โจทก์ทราบแต่ผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการของร้านโจทก์ ไม่เห็นชอบด้วย ดังนี้ สัญญาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้นโดยตกลงผ่อนผันให้แก่กันในจำนวนเงินที่ผู้สอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบระหว่างจำเลยเป็นผู้จัดการร้านโจทก์และ ส่งมอบเงินสดขาดบัญชีขณะจำเลยพ้นจากตำแหน่งโดยจำเลยยอมรับผิด ชดใช้เงินดังกล่าวทั้งสองสำนวนและโจทก์ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยทางแพ่ง และทางอาญาสัญญาฉบับนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 อันมีผลทำให้การเรียกร้อง ของโจทก์จำเลยซึ่งมีอยู่ขณะนั้นระงับสิ้นไปคงได้สิทธิตามที่แสดงไว้ใน สัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้เท่านั้นดังนั้นการที่จำเลย จะขอนำสืบพยานตามเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความและ รับสภาพหนี้ ข้อ 2 ได้ก็ต้องให้ผู้ตรวจบัญชีและคณะกรรมการดำเนินงาน ของร้านโจทก์ยินยอมเห็นชอบด้วยซึ่งจำเลยก็ยอมรับแล้วว่าบุคคลดังกล่าว มิได้ยินยอมเห็นชอบด้วยกับหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดงดังนั้นโดย สัญญาข้อ 2 จำเลยจึงไม่มีสิทธิสืบพยานต่อไปที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้งดสืบพยานของคู่ความจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์จำกัด จำเลยเป็นอดีตผู้จัดการร้านโจทก์ ปีการเงิน ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๕ ผู้สอบบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบบัญชีโจทก์ปรากฏว่ามีเงินสดขาดบัญชีซึ่งจำเลยจะต้องรับผิดเป็นเงิน ๓๖,๖๖๗.๗๕ บาท และจำเลยได้ร่วมกับโจทก์ตรวจสอบยอดเงินสดในวันที่จำเลยพ้นจากหน้าที่ผู้จัดการและต้องส่งมอบเงินสดคืนให้โจทก์ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นเงิน ๒๑,๕๓๐.๖๑ บาท จำเลยได้ทำบันทึกและให้ถ้อยคำแก่โจทก์ว่าได้มอบเงินสดคืนโจทก์เป็นเงิน ๕,๗๙๒.๔๐ บาท ยังขาดไม่ได้ส่งมอบอีกเป็นเงิน ๑๕,๗๓๘.๒๑ บาท จำเลยกับโจทก์จึงตกลงทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ว่า จำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินสดขาดบัญชีเป็นเงิน ๓๖,๖๖๗.๗๕ บาทและยอดเงินสดคงเหลือเมื่อวันที่จำเลยออกจากตำแหน่งผู้จัดการร้านโจทก์มีเงินที่ขาดบัญชีอีก ๑๕,๗๓๘.๒๑ บาท แต่จำเลยขอเวลาตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีตามที่ผู้สอบบัญชีอ้างว่ามีเงินสดขาดบัญชีเพื่อความแน่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนนับแต่วันทำสัญญา หากพบหลักฐานการเงินที่สามารถนำมาหักกลบลบเงินขาดบัญชีโดยผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการของร้านยินยอมเห็นชอบด้วย จำเลยยินยอมชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์จนครบ ภายหลังทำสัญญาดังกล่าวจำเลยได้ตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีต่าง ๆ ของร้านโจทก์แล้วได้มีหนังสือถึงโจทก์ปฏิบัติความรับผิดว่าไม่มีเงินสดขาดบัญชีที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วไม่มีหลักฐานเหตุผลที่จะต้องแก้ไข ผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการร้านโจทก์จึงไม่ยินยอมเห็นชอบกับข้อชี้แจงของจำเลยจึงแจ้งให้จำเลยนำเงินขาดบัญชีตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้มาชำระให้แก่โจทก์ จำเลยก็เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เงินจำนวน ๓๖,๖๖๗.๗๕ บาท ไม่ได้ขาดบัญชีและไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลย เพราะจำเลยนำเงินดังกล่าวคืนโจทก์โดยนำเงินไปฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขานครนายก ในบัญชีเงินฝากของโจทก์และนำเงินไปชำระหนี้ของโจทก์ค่าซื้อสินค้าด้วยซึ่งจำเลยปฏิบัติหน้าที่และธุรกิจของโจทก์ เงินยอดคงเหลือเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ ความจริงมีเพียง ๕,๗๙๒.๔๐ บาท จำเลยได้ส่งมอบให้โจทก์ครบถ้วนเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเงิน ๒๑,๕๓๐.๖๑ บาทนั้นไม่ถูกต้อง ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่าเงินสดขาดบัญชี ๑๕,๗๓๘.๒๑ บาท จึงไม่จริง สัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ที่ฟ้องไม่ถูกต้อง โจทก์ขอให้จำเลยยอมรับสภาพหนี้ไว้ก่อนโดยมีเงื่อนไขข้อแม้ว่า จำเลยขอเวลาตรวจสอบหลักฐานเพื่อความแน่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนและยินยอมให้จำเลยหาหลักฐานมาแสดงชี้แจงต่อโจทก์หากยังมีเงินสดขาดบัญชีจริง จำเลยยอมรับชดใช้ให้ จำเลยจึงลงลายมือชื่อในสัญญาดังกล่าวด้วยความบริสุทธิ์ใจและทราบแน่นอนว่าเงินสดไม่ได้ขาดบัญชีเมื่อจำเลยตรวจหลักฐานทางบัญชีเงินไม่ได้ขาดบัญชี จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญา ชื่อสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้เพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินสดขาดบัญชีระหว่างที่จำเลยเป็นผู้จัดการร้านโจทก์ ความว่า ข้อ ๑. จำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินสดขาดบัญชีที่ผู้สอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบระหว่างจำเลยเป็นผู้จัดการร้านโจทก์เป็นเงิน ๓๖,๖๖๗.๗๕ บาท และยอดเงินสดคงเหลือเมื่อวันจำเลยออกจากตำแหน่งผู้จัดการร้านโจทก์มีเงินที่ขาดบัญชีอีก ๑๕,๗๓๘.๒๑ บาท ข้อ ๒. จำเลยขอเวลาทำการตรวจสอบหลักฐานทางบัญชีตามที่ผู้สอบบัญชีอ้างว่ามีเงินสดขาดบัญชีเพื่อความแน่นอนเป็นเวลา ๓ เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากพบหลักฐานการเงินที่สามารถนำมาหักกลบลบเงินขาดบัญชีได้เป็นจำนวนเท่าใดโดยผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการของร้านโจทก์ยินยอมเห็นชอบด้วย จำเลยยินยอมชดใช้ส่วนที่ยังขาดอยู่ให้แก่โจทก์ ภายหลังจำเลยได้ตรวจสอบบัญชีและแจ้งให้โจทก์ทราบ แต่ผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการดำเนินการของร้านโจทก์ไม่เห็นชอบด้วย แล้ววินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาททั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนั้น โดยตกลงผ่อนผันให้แก่กันในจำนวนเงินที่ผู้สอบบัญชีของโจทก์ตรวจพบระหว่างจำเลยเป็นผู้จัดการของร้านโจทก์และส่งมอบเงินสดขาดบัญชีขณะจำเลยพ้นจากตำแหน่ง โดยจำเลยยอมรับผิดชดใช้เงินดังกล่าวทั้งสองจำนวน และโจทก์ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาสัญญาฉบับนี้จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๐ อันมีผลทำให้การเรียกร้องของโจทก์จำเลยซึ่งมีอยู่ขณะนั้นระงับสิ้นไป คงได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้เท่านั้น การที่จำเลยจะมีสิทธินำสืบได้ตามเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความและรับสภาพหนี้ ข้อ ๒ นั้น จะต้องให้ผู้ตรวจบัญชีและคณะกรรมการดำเนินงานของร้านโจทก์ยินยอมเห็นชอบด้วย ซึ่งจำเลยก็ยอมรับแล้วว่าบุคคลดังกล่าวมิได้ยินยอมและเห็นชอบด้วยกับหลักฐานที่จำเลยนำมาแสดง ดังนั้นโดยสัญญาข้อ ๒ จำเลยจึงไม่มีสิทธิสืบพยานต่อไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานของคู่ความจึงชอบแล้ว แต่ในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจำเลยแต่เพียงอุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลสูงสั่งให้สืบพยานของคู่ความต่อไปเท่านั้นจำเลยจึงควรเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาศาลละสองร้อยบาทอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เรียกเกินมาแก่จำเลย
พิพากษายืน

Share