คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมีเจตนาให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้แทนจำเลยแล้วจำเลยจะโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่เนื่องจากโจทก์จำเลยเข้าใจว่าการที่จำเลยกู้เงินโดยมอบใบน.ส.3 ก. ให้เจ้าหนี้ไว้นั้นเป็นจำนองจึงระบุในสัญญาประนีประนอมว่าให้โจทก์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทดังนี้ ตามสัญญาประนีประนอมนั้นโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้แทนจำเลย
คดีในชั้นฎีกาพิพาทกันเกี่ยวกับการแปลเจตนาของคู่ความในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 (2) ตอนท้าย จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดิน น.ส.๓ ก.เลขที่ ๒๒๒ และเลขที่ ๒๒๓ ตำบลน้ำซึม อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีเพราะเหตุเนรคุณ แล้วโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลว่าจำเลยยอมคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าโจทก์ต้องรับภาระการจำนองติดไปด้วย และจะจดทะเบียนโอนคืนทันทีเมื่อโจทก์ไถ่ถอนจำนองฯลฯ ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ศาลหมายเรียกโจทก์มาสอบถามโจทก์แถลงว่าไม่อาจติดต่อกับเจ้าหนี้ได้ ขอให้จำเลยนำเจ้าหนี้และหลักฐานแห่งหนี้มาแสดงจำเลยไม่ปฏิบัติ และแถลงว่าถ้าโจทก์ชำระหนี้ ๓๕,๐๐๐ บาทแทน ก็จะโอนที่ดินทั้งสองแปลงคืนให้ โจทก์แถลงไม่เชื่อว่าจำเลยเป็นหนี้อยู่จริง ศาลจึงนัดไต่สวน
จำเลยนำพยานเข้าไต่สวนได้ความว่า จำเลยกู้เงินนายสมนึก ตั้งฤทัยธรรม ๓๕,๐๐๐ บาท โดยเอาที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๒๒ มอบให้ยึดถือเป็นประกัน โจทก์เบิกความปฏิเสธไม่เชื่อว่าจำเลยเป็นหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความมีความหมายว่าโจทก์รับจะชำระหนี้แทนจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม จึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องโอนที่ดินพิพาทแปลงตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๒๒ ให้โจทก์ส่วนที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๒๓ ไม่เกี่ยวกับหนี้สินรายนี้ จำเลยต้องจัดการโอนให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้แทนจำเลย แต่ยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไม่ต้องโอนที่ดินพิพาทแปลง น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๒๒ แก่โจทก์เสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า เหตุที่โจทก์ยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยเพราะจำเลยได้บอกโจทก์ว่าที่ดินพิพาทติดจำนอง โจทก์ตกลงที่จะรับภาระไถ่ถอนจำนองเท่านั้น มิได้เจตนาที่จะต้องชำระหนี้แทนจำเลยในมูลหนี้อย่างอื่นโจทก์มิได้ผิดสัญญา จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ขอให้พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความได้ระบุไว้ว่าจำเลยยอมคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์ต้องรับภาระการจำนองติดไปด้วยจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ในทันทีเมื่อโจทก์ไถ่ถอนจำนอง ซึ่งโจทก์ตกลงว่าจะไปทำการไถ่ถอนจำนองภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๖ โจทก์เป็นมารดาจำเลย เป็นชาวชนบทด้วยกันทั้งคู่ เชื่อว่าไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงคำว่าจำนองดีพอ การที่จำเลยใช้ถ้อยคำในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าให้โจทก์รับภาระจำนองก็ดี ให้โจทก์ไถ่ถอนจำนองก็ดี น่าจะเป็นเรื่องใช้ถ้อยคำผิด ซึ่งเจตนาแท้จริงแล้วโจทก์จำเลยมุ่งหมายถึงมูลหนี้เงินกู้ที่จำเลยนำเอาใบ น.ส.๓ ก. ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันมากกว่ามุ่งหมายถึงลักษณะแห่งนิติกรรม ทั้งเมื่อจำเลยขอให้ศาลเรียกโจทก์มาสอบถามถึงการไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์มาศาลก็แถลงเพียงว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยจะเป็นหนี้นายสมนึกตั้งฤทัยธรรม ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ที่จำเลยนำมาแสดง ศาลจึงมีคำสั่งให้ไต่สวนถึงมูลหนี้ว่า มีมูลหนี้ต่อกันจริงหรือไม่ โจทก์หาได้ยกข้ออ้างว่า โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยเจตนาจะชำระหนี้เฉพาะหนี้จำนองเท่านั้น มิได้หมายถึงหนี้อย่างอื่นหรือหนี้เงินกู้นายสมนึกนี้ด้วย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถึงเจตนาของโจทก์จำเลยในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์รับภาระชำระหนี้เงินกู้แทนจำเลย และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของฝ่ายโจทก์เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น จำเลยมิได้ฎีกามาเป็นกิจจะลักษณะ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
อนึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า คดีในชั้นนี้เป็นกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับการแปลเจตนาของคู่ความในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลโจทก์ฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘ (๒) ตอนท้าย ซึ่งโจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท ตามตาราง ๑ข้อ ๒ ข. โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา ๔๙๕ บาท จึงให้คืนแก่โจทก์จำนวน ๒๙๕ บาท
พิพากษายืน.

Share