แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศพ.ศ. 2526 ข้อ 238 กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ปลายทางส่งธนาณัติคืนให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางเพื่อจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากส่งเมื่อผู้รับไม่ไปติดต่อขอรับเงินธนาณัติภายในกำหนดตามข้อ 235.1 และเมื่อที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางได้รับธนาณัติคืนแล้ว ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526(แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางตรวจสอบแบบ ธน.31ท่อนที่1ซึ่งได้รับคืนกับแบบธน.1ของธนาณัตินั้นและแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 235 เมื่อโจทก์ไม่ได้ไปติดต่อขอรับเงินคืนในกำหนดเวลา จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ไปติดต่อขอรับเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 10,383บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 8,096 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาเฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่รับฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2539 โจทก์ฝากส่งเงิน 8,096 บาท กับจำเลยที่ 1 ทางไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศจากไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางไปยังไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากที่ทำการปลายทางเพื่อชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับ และไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากได้จัดส่งใบแจ้งความไปรษณีย์ธนาณัติสำหรับผู้รับไปขอรับเงิน (แบบธน.31 ท่อนที่ 2) ให้แก่บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แล้ว แต่บริษัทดังกล่าวไม่ไปขอรับเงินภายในกำหนด 2 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่งตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 235.1 ไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากจึงส่งใบไปรษณีย์ธนาณัติสำหรับ นปท. (ธน.31 ท่อนที่ 1)คืนไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทาง ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 238เพื่อจ่ายเงินคืนให้แก่โจทก์ผู้ฝากส่ง ไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีรอโจทก์ติดต่อขอรับเงินคืนโดยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับไม่ได้ไปขอรับเงิน จนกระทั่งครบกำหนด 4 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่ง ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 235 ปรากฏว่าโจทก์มิได้ไปขอรับเงินคืนและเมื่อครบกำหนด 6 เดือน นับต่อจากเดือนที่ฝากส่ง ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 235.3 แล้ว โจทก์และบริษัท เอส.พีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ก็มิได้ไปขอรับเงิน จำเลยที่ 1 จึงประกาศโฆษณาให้โจทก์หรือบริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำหลักฐานไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 โจทก์และบริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มิได้ไปขอรับเงินในกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงโอนเงินธนาณัติเป็นของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2539 ข้อ 204 คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1ต้องรับผิดคืนเงินไปรษณีย์ธนาณัติตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่
โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อได้รับ ธน.31 ท่อนที่ 1 คืนจากไปรษณีย์โทรเลขหัวหมากที่ทำการปลายทางแล้ว ไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบเสียก่อนว่า บริษัท เอส.พี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับไม่ได้ไปขอรับเงินจึงจะถือได้ว่าโจทก์ไม่ไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61ข้อ 235 เมื่อไปรษณีย์โทรเลขสุราษฎร์ธานีมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบ จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืน และโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 236 และไปรษณียนิเทศพ.ศ. 2539 ข้อ 204 ได้ เห็นว่า เดิมระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วยบริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 ข้อ 241.1 กำหนดว่าเมื่อทำการต้นทางได้รับแบบ ธน.31 ท่อนที่ 1 ซึ่งที่ทำการปลายทางส่งคืนให้ตามข้อ 238 ให้ตรวจสอบกับแบบ ธน.1 (ใบฝากธนาณัติในประเทศ) ของธนาณัติฉบับนั้น หากเป็นรายที่ไม่มีหมายเหตุการออกแบบ ธน.10 ก. (ใบแทนไปรษณีย์ธนาณัติ) หรือหมายเหตุให้ระงับการจ่ายเงินคืนใด ๆ อย่างกรณีของโจทก์ให้แจ้งผู้ฝากทราบเพื่อรับเงินคืนด้วยแบบ ธน.47 ท่อนที่ 2โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่ขณะเกิดเหตุคดีนี้ระเบียบดังกล่าวได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยระเบียบการสื่อสารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 61 ว่าด้วย บริการไปรษณีย์ธนาณัติในประเทศ พ.ศ. 2526 (แก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2535) ลงวันที่ 12 ตุลาคม2535 ข้อ 3 กำหนดให้ที่ทำการต้นทางเพียงแต่ตรวจสอบแบบ ธน.31 ท่อนที่ 1 ซึ่งได้รับคืนกับแบบ ธน.1 ของธนาณัติฉบับนั้น และแยกเก็บไว้เพื่อรอการติดต่อขอรับเงินคืนจากผู้ฝากเท่านั้น ทั้งไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2539 ก็มิได้กำหนดให้ที่ทำการต้นทางจะต้องแจ้งให้ผู้ฝากทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ฝากที่จะต้องไปติดต่อขอรับเงินคืนภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 235 เมื่อโจทก์ผู้ฝากไม่ได้ไปขอรับเงินคืนในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการประกาศโฆษณากำหนดระยะเวลาให้โจทก์ไปขอรับเงินคืนและโอนเงินธนาณัติที่โจทก์ฝากส่งเป็นของจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่ไปขอรับเงิน ตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 61 ข้อ 236 และไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2539ข้อ 204 ได้ ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้