คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4006/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นกรรมการ ดังนั้น การกระทำใด ๆของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ว่าจะเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 อันถือว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำการนั้นเสมอไป ต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยที่ 2 กระทำนั้นเป็นการกระทำในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือไม่ด้วย
เมื่อสัญญาว่าจ้างถ่ายแสดงแบบมิได้ระบุห้ามจำเลยที่ 2 มิให้บันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ในรูปแบบอื่นนอกจากเป็นม้วนเทปวีดีโอไว้โดยชัดแจ้งและสัญญาว่าจ้าง ข้อ 3 กำหนดให้ลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานครั้งนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้าง จำเลยที่ 2จึงมีสิทธิในงานบันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ดังกล่าวอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯมาตรา 6 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะนำงานนั้นมาทำซ้ำหรือบันทึกภาพของโจทก์ดังกล่าวซ้ำในรูปแบบของม้วนเทปวีดีโอหรือแผ่นซีดีหรือแผ่นเลเซอร์ดิสก์อย่างหนึ่งอย่างใดออกจำหน่ายได้ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 15(1) การกระทำของจำเลยที่ 2ไม่เป็นการผิดสัญญาว่าจ้าง และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาว่าจ้าง จำเลยที่ 1จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายม้วนเทปวีดีโอ แผ่นซีดีและแผ่นเลเซอร์ดิสก์นั้น ก็เป็นการจัดจำหน่ายสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยที่ 1จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 และนางวัฒนี มนต์พิชิต ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้โจทก์ประกอบอาชีพนางแบบและนักแสดงภาพยนต์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศโดยใช้ชื่อในการแสดงว่า “ธิดา ธีรรัตน์”เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวว่าจ้างโจทก์ให้แสดงเป็นนางแบบในการถ่ายทำและบันทึกภาพเป็นม้วนเทปวีดีโอคาราโอเกะที่ต่างประเทศประเภทม้วนเดียวบรรจุ 12 เพลงเพื่อให้จำเลยทั้งสองนำไปผลิตและจำหน่ายในประเภทม้วนเทปวีดีโอคาราโอเกะเท่านั้น ตกลงค่าจ้างกันเป็นเงินจำนวน 600,000 บาทต่อมาในวันที่ 23 ธันวาคม 2539 และวันที่ 5 มกราคม 2540 โจทก์ตรวจพบว่า จำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายที่มีโจทก์เป็นผู้แสดงแบบดังกล่าวไปผลิตและจำหน่ายในรูปแบบของแผ่นซีดีและแผ่นเลเซอร์ดิสก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์อันเป็นการผิดสัญญาและละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองหยุดผลิตจำหน่ายและเก็บแผ่นซีดี แผ่นเลเซอร์ดิสก์คาราโอเกะที่มีรูปภาพของโจทก์เป็นผู้แสดงแบบกับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ถ่ายแบบผู้ผลิตและเจ้าของลิขสิทธิ์ในวีดีโอเทปคาราโอเกะคือบริษัทมิวสิคสเตชั่นจำกัด ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น จำเลยที่ 2ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ถ่ายแบบตามคำฟ้อง ส่วนสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มิได้ระบุว่าให้ถ่ายทำเพื่อมาทำการผลิตเฉพาะในรูปแบบของม้วนเทปวีดีโอคาราโอเกะเท่านั้น หากแต่นำไปผลิตสินค้าคาราโอเกะได้ทุกประเภท ทั้งตามสัญญาก็กำหนดให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานครั้งนี้ จำเลยที่ 2 จึงตกลงให้บริษัทมิวสิคสเตชั่นจำกัด เป็นผู้นำผลงานไปผลิตเป็นสินค้าคาราโอเกะทุกชนิดเพื่อจำหน่ายแก่ประชาชน จำเลยทั้งสองไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือผิดสัญญาต่อโจทก์จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองหยุดผลิต จำหน่าย และเก็บแผ่นซีดีกับแผ่นเลเซอร์ดิสก์คาราโอเกะที่มีรูปโจทก์เป็นผู้แสดงที่วางจำหน่ายตามท้องตลาดเสีย และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ทำการแทนจำเลยที่ 1ได้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้เป็นนางแบบในการถ่ายทำคาราโอเกะในราคา 600,000 บาท ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายจ.4 เมื่อถ่ายทำเสร็จแล้วบริษัทมิวสิคสเตชั่น จำกัด ได้ซื้อลิขสิทธิ์ในวีดีโอเทปคาราโอเกะดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 2 และจัดทำเป็นอัลบั้มมาสเตอร์พีซธิดา ธีรรัตน์ คาราโอเกะ ทั้งในรูปแบบของม้วนเทปวีดีโอแผ่นซีดี และแผ่นเลเซอร์ดิสก์ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดจำหน่ายในราคา350 บาท 590 บาท และ 1,500 บาท ตามลำดับ

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า”ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล”ซึ่งหมายความว่า ความประสงค์ในการที่จำเลยที่ 1 ต้องการว่าจ้างโจทก์ให้แสดงแบบย่อมแสดงออกโดยการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวก็ตามแต่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นนิติบุคคลก็มีสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1ต่างหากจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นกรรมการ ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ว่าจะเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 อันถือว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการนั้นเสมอไป ต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยที่ 2กระทำนั้นเป็นการกระทำในฐานะเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือไม่ด้วยตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “สัญญานี้จัดทำขึ้นระหว่างนายพีรพล มนต์พิชิต (จำเลยที่ 2) อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 729/98-102 ถนนรัชดาภิเษก แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร เรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ฝ่ายหนึ่ง กับนางสาวสุชาดาปวรัถวิจิตร (โจทก์) อายุ 27 ปี เรียกว่า “ผู้รับจ้าง” อีกฝ่ายหนึ่ง”โดยไม่ปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำสัญญานี้เลยทั้งจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาโดยไม่ได้ระบุฐานะที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 หรือได้มีการประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ไว้ด้วยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของบริษัทจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 แต่อย่างใด ต่างจากที่โจทก์เคยทำสัญญารับจ้างถ่ายแสดงแบบกับบริษัทอีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2538 ตามเอกสารหมาย ล.1 ที่ระบุว่า “สัญญาฉบับนี้ได้ทำขึ้นระหว่างบริษัทอีวีเอสเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด โดยนายเสกสรร สุนันท์กิ่งเพชร เรียกว่า”ผู้ว่าจ้าง” ฝ่ายหนึ่ง กับนางสาวสุชาดา ปวรัถวิจิตร (ธิดา ธีรรัตน์) เรียกว่า”ผู้แสดงแบบ” อีกฝ่ายหนึ่ง “ซึ่งเป็นกรณีที่แสดงว่านายเสกสรรทำสัญญากับโจทก์ในฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทอีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัดและการที่สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ที่มีข้อความว่า “บริษัทสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดได้ (ทำขึ้นเพื่อแจก)” ดังเช่นที่โจทก์ฎีกานั้น ก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะให้ตีความคำว่า “บริษัท” นั้นให้หมายถึงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาว่าจ้างฉบับนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้เพราะคำว่า “บริษัท” ดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นบริษัทใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 ทำขึ้นที่บ้านเลขที่ 729/98-102ถนนรัชดาภิเษก แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครตรงกับที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลยที่ 1 นั้น แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่า บ้านพักอาศัยของจำเลยที่ 2 และสำนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน คือจำเลยที่ 2เปิดบ้านพักอาศัยเป็นสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาว่าจ้างฉบับนี้ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้ก็ไม่ได้ระบุว่าในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เมื่อสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งไม่ได้ระบุฐานะของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญากับโจทก์ว่าเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 และไม่มีตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ประทับไว้ด้วยแล้ว จึงเห็นได้โดยชัดแจ้งตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4นั้นแล้วว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาในฐานะส่วนตัวกับโจทก์มิได้ทำในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1อีกฐานะหนึ่งแต่อย่างใด

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายจ.4 โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านรับว่า โจทก์เป็นผู้กรอกข้อความในสัญญาเอง ซึ่งมีข้อตกลงว่าจ้างตามข้อ 1 ระบุว่า”ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างถ่ายทำคาราโอเกะที่ต่างประเทศจำนวน 12 เพลง และผู้ว่าจ้าง (ที่ถูกเป็น “ผู้รับจ้าง”)ตกลงทำสัญญากับผู้ว่าจ้างจะไม่ถ่ายทำคาราโอเกะรวมอัลบั้มจำนวน 12 เพลง ในม้วนเดียวกันกับบริษัทอื่น ๆ อีกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน นับจากวันวางจำหน่ายวันแรก ภาพที่ถ่ายทำมานี้บริษัทสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดได้ (ทำขึ้นเพื่อแจก)” ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวนี้แล้ว ย่อมเห็นได้ว่ามีสาระสำคัญของข้อตกลงอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรก โจทก์ตกลงที่จะแสดงเป็นนางแบบให้จำเลยที่ 2 ถ่ายทำเป็นคาราโอเกะ โดยเดินทางไปถ่ายทำกันในต่างประเทศเป็นจำนวน 12 เพลง และประการที่ 2 โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์จะไม่ไปรับจ้างแสดงเป็นนางแบบให้บริษัทอื่นถ่ายทำเป็นคาราโอเกะรวมอัลบั้มจำนวน 12 เพลง ในม้วนเดียวกันอีกเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน นับจากวันที่จำเลยที่ 2 นำบันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ที่ถ่ายทำเป็นคาราโอเกะให้แก่จำเลยที่ 2 ออกวางจำหน่ายในท้องตลาดในวันแรก ข้อตกลงที่โจทก์จะแสดงเป็นนางแบบให้จำเลยที่ 2ถ่ายทำเป็นคาราโอเกะ จำนวน 12 เพลง นั้น ไม่ได้ระบุไว้เป็นการเฉพาะว่าจำเลยที่ 2 จะจัดทำเป็นคาราโอเกะออกจำหน่ายได้ในประเภทม้วนเทปวีดีโอเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่โจทก์ทำสัญญารับจ้างถ่ายแสดงแบบให้แก่บริษัทอีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ตามหนังสือสัญญาว่าจ้างถ่ายแสดงแบบเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 2 ที่ระบุว่า “ผู้แสดงแบบตกลงยอมที่จะให้ “ผู้ว่าจ้าง” ถ่ายแบบได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในวีดีโอ เพื่อเป็นปกเทปวีดีโอคาราโอเกะ และเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขายวีดีโอคาราโอเกะเท่านั้น” ซึ่งเป็นการกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าผู้ว่าจ้างโจทก์ตามหนังสือสัญญาเอกสารหมาย ล.1ต้องนำภาพดังกล่าวไปจัดทำเป็นม้วนเทปวีดีโอคาราโอเกะเท่านั้น ดังนั้นเมื่อสัญญาว่าจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 มิได้มีการกำหนดประเภทของการบันทึกภาพที่จำเลยที่ 2 จะจัดทำขึ้นเพื่อออกจำหน่าย จำเลยที่ 2ย่อมมีสิทธิที่จะบันทึกภาพที่โจทก์แสดงเป็นนางแบบให้จำเลยที่ 2ถ่ายทำเป็นคาราโอเกะดังกล่าวและผลิตเป็นม้วนเทปวีดีโอ หรือแผ่นซีดีหรือแผ่นเลเซอร์ดิสก์ในรูปแบบหนึ่ง รูปแบบใดออกจำหน่ายได้ แม้การบันทึกภาพลงในแผ่นซีดีและแผ่นเลเซอร์ดิสก์ของจำเลยที่ 2 จะเป็นการจัดทำภายหลังการบันทึกภาพเป็นม้วนเทปวีดีโอดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็สามารถที่จะทำได้ เพราะตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 มิได้กำหนดระยะเวลาในการให้สิทธิดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ไว้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 1 ระบุว่า “รวมอัลบั้มจำนวน12 เพลงในม้วนเดียวกัน” คำว่า “ม้วน” หมายถึงม้วนเทปวีดีโอเท่านั้นจำเลยที่ 2 จึงนำไปจัดทำเป็นแผ่นซีดีและแผ่นเลเซอร์ดิสก์ไม่ได้นั้นก็ปรากฏว่าข้อตกลงในส่วนนี้เป็นการตกลงไว้เพื่อบังคับ โจทก์มิให้ไปแสดงเป็นนางแบบให้ผู้อื่นถ่ายทำเป็นคาราโอเกะ ดังนั้น เมื่อสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 มิได้ระบุห้ามจำเลยที่ 2 มิให้บันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ในรูปแบบอื่นนอกจากเป็นม้วนเทปวีดีโอไว้โดยชัดแจ้ง และสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3 กำหนดให้ลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการทำงานครั้งนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานบันทึกภาพการแสดงแบบของโจทก์ดังกล่าวอันเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทโสตทัศนวัสดุ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 6 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะนำงานนั้นมาทำซ้ำหรือบันทึกภาพของโจทก์ดังกล่าวซ้ำในรูปแบบของม้วนเทปวีดีโอ หรือแผ่นซีดี หรือแผ่นเลเซอร์ดิสก์อย่างหนึ่งอย่างใดออกจำหน่ายได้ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 15(1)การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการผิดสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4และไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายม้วนเทปวีดีโอ แผ่นซีดี และแผ่นเลเซอร์ดิสก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ถึง ว.จ.3 นั้น ก็เป็นการจัดจำหน่ายสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์เพราะโจทก์มิใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวแต่อย่างใด

พิพากษายืน

Share