คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4002/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแรก พ.ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินกับโจทก์และส. ได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมออกจากห้องแถวพิพาทและเรียกค่าเสียหายจำเลยในคดีนี้ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวโดยถูกศาลเรียกให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วยคนหนึ่งฟ้องว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ได้มาโดยซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขัดขวางไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าห้องแถวพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับในคดีทั้งสองแตกต่างกันจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 173(1).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 410 เนื้อที่ประมาณ 2ไร่ พร้อมห้องแถวเลขที่ 211 ถึง 258 รวม 48 ห้อง ตำบลทุ่งกระพังโหมอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นของโจทก์กับนายพยุง เจริญสุขและนายสมพงษ์ ผ่องธัญญาร่วมกันซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 124/2513 ของศาลชั้นต้น เมื่อเดือนกรกฎาคม2516 ที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกอยู่ติดกับที่ดินโฉนดที่ 2386 ของจำเลยทั้งสองซึ่งซื้อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2519พร้อมห้องแถวเลขที่ 205 ถึง 210 รวม 6 ห้อง เดิมเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงนี้ได้แยกการครอบครองเป็นส่วนสัดมากว่า 10 ปี และมิได้คัดค้านการขายทอดตลาดที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 410 พร้อมห้องแถวดังกล่าว โจทก์กับพวกได้ครอบครองที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่410 และห้องแถว 48 ห้อง ตั้งแต่ซื้อมาจากการขายทอดตลาดของศาลโดยให้บุคคลอื่นเช่าตลอดมา ก่อนซื้อที่ดินจำเลยก็ทราบแล้วว่าในที่ดินโฉนดที่ 2386 มีห้องแถวอยู่ 6 ห้อง คือห้องเลขที่ 205 ถึง 210 ต่อมาเดือนมีนาคม 2521 จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขัดขวางไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าห้องเลขที่ 254ถึง 258 รวม 5 ห้อง และอ้างว่าห้องแถวดังกล่าวอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 2386 ของจำเลย จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินเนื้อที่75 ตารางวา พร้อมห้องแถวเลขที่ 254 ถึง 258 รวม 5 ห้องตามแผนที่ท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
จำเลยทั้งสองให้การว่า ห้องแถวเลขที่ 254 ถึง 258 อยู่ในที่ดินโฉนดที่ 2386 ของจำเลยโดยเป็นส่วนควบกับที่ดิน จำเลยซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าวมาจากนางสาวอุมากร รัตนนันต์ ทายาทผู้รับมรดกของหม่อมเจ้าหญิงถวิลวิถาร และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยได้ครอบครองมาโดยสุจริตตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2519 เดิมที่ดินที่โจทก์และจำเลยซื้อมาเป็นของหม่อมเจ้าหญิงถวิลวิถาร ที่ดินที่โจทก์ซื้อมาเป็นที่ดินตาม น.ส.3 โจทก์จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินและห้องแถวพิพาทโดยถูกจำเลยแย่งการครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เกินกว่า 1 ปีแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความจำเลยไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษารับรองสิทธิของโจทก์ไม่ได้ โจทก์มิได้เสียหายและค่าเสียหายอย่างมากไม่เกินเดือนละ 100 บาทโจทก์กับนายพยุง เจริญสุข มีส่วนได้เสียร่วมกันในทรัพย์สินที่พิพาท เมื่อนายพยุงฟ้องคดีเรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลตามคดีหมายเลขดำที่ 144, 145, 146, 147/2521 ของศาลชั้นต้นแล้วการฟ้องคดีนี้จึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน ที่ดินและห้องแถวตามฟ้องเป็นของโจทก์ โจทก์เสียหายตามฟ้อง พิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส. 3 เลขที่410 พร้อมห้องแถว 5 ห้อง คือห้องเลขที่ 254 ถึง 258 ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ของโจทก์ แต่จำเลยแย่งการครอบครองมาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…พิเคราะห์แล้วคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่าคำฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะเป็นเจ้าของที่ดินและห้องแถวพิพาทหรือไม่ ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้นเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่144, 145, 146, 147/2521 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 (1) นั้น เห็นว่า คดีหมายเลขดำที่ 144, 145, 146, 147/2521 ของศาลชั้นต้น นายพยุงเจริญสุข เจ้าของร่วมในที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 410 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมออกจากห้องแถวพิพาทและเรียกค่าเสียหายแม้จำเลยในคดีนี้เข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าวก็ด้วยการที่ศาลเรียกให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ ได้มาโดยซื้อจากการขายทอดตลาดของศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 124/2513 ของศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขัดขวางไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าห้องแพวพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับในคดีทั้งสองแตกต่างกัน ดังนั้น จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 (1) ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสอง
ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและห้องแถวพิพาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินและห้องแถวพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ 124/2513 ของศาลชั้นต้นสิทธิของโจทก์ไม่เสียไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1330 ที่ดินและห้องแถวพิพาทจึงเป็นของโจทก์ตามฟ้อง เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขัดขวางไม่ให้โจทก์เก็บค่าเช่าห้องพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหายได้ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า ที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นของจำเลยโดยอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 2386 ของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การต่อสู้อีกว่า จำเลยแย่งการครอบครองที่ดินและห้องแถวพิพาทจากโจทก์มาเกิน 1 ปี โจทก์หมดสิทธิฟ้องร้องแล้วนั้นจึงขัดแย้งกับคำให้การของจำเลยดังกล่าวข้างต้น ซึ่งข้อที่จะต้องวินิจฉัยเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งศาลก็มิได้กำหนดประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินและห้องแถวพิพาทของโจทก์มาเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลโดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาทแทนโจทก์’.

Share