คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาปลูกบ้านเสร็จใน 50 วัน แต่ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินงวดแรกไม่ครบ และสั่งซื้อสัมภาระให้ผู้รับจ้างช้ากว่ากำหนดจึงถือกำหนด 50 วันบังคับไม่ได้ ผู้ว่าจ้างไม่ให้ผู้รับจ้างทำงานจะว่าผู้รับจ้างทิ้งงานไม่ได้ ผู้ว่าจ้างเลิกสัญญาได้โดยอาศัย มาตรา 605 จึงต้องใช้ค่าแห่งการงานที่ผู้รับจ้างได้ทำไปแล้วตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 หักกับเงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้ผู้รับจ้างไปก่อนแล้ว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยผู้รับจ้างใช้เงิน 24,667.75 บาทแก่โจทก์ กับดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.8 บอกเลิกสัญญากับจำเลยอ้างว่าจำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด 50 วันตามสัญญาและทิ้งงานไป ขอให้จำเลยชดใช้ค่าปรับวันละ 300 บาท ตามสัญญาและชดใช้ค่าวัสดุที่โจทก์จ่ายแทนไปกับค่าเสียหายอีกด้วย

ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาดังโจทก์อ้างหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะมีข้อตกลงกันในสัญญาว่า หากจำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จใน 50 วันโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและปรับจำเลยเป็นรายวันวันละ 300 บาทก็ตามแต่ข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้น โจทก์จะต้องจ่ายค่าจ้างเหมางวดแรกเป็นเงิน 50,000 บาท เมื่อจำเลยได้เริ่มลงมือทำการก่อสร้าง แต่โจทก์จ่ายให้เพียง30,000 บาท จำเลยได้นำเงินจำนวนดังกล่าวซื้อวัสดุมาดำเนินการก่อสร้างจนถึงเดือนพฤษภาคม 2518 โจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้โจทก์เป็นผู้ซื้อวัสดุก่อสร้างส่งให้จำเลยแทนการชำระเงินค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์จะต้องชำระตามงวด จึงย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องส่งวัสดุก่อสร้างให้จำเลยทำการก่อสร้างให้ทันกำหนด 50 วัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2518 ด้วยในการซื้อและส่งวัสดุให้จำเลยทำการก่อสร้างนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ซื้อตามรายการที่จำเลยสั่งและให้ร้านค้าส่งให้จำเลย รวมทั้งสิ้น 20 ครั้ง ครั้งแรก ส่งให้จำเลยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2518 ครั้งสุดท้ายส่งให้จำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2518 ซึ่งเลยกำหนด 50 วัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาไปถึง 1 เดือนเศษนอกจากนี้เมื่อพ้นกำหนด 50 วันแล้ว โจทก์ยังจ่ายเงินค่าเหมาก่อสร้างให้จำเลยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2518 เป็นเงิน 1,500 บาทอีกด้วย ดังนี้ ในการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้ถือเอาเวลา 50 วันตามที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสารสำคัญแห่งสัญญาเสียแล้ว อนึ่ง การที่จำเลยจะทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จหรือช้าย่อมขึ้นอยู่กับวัสดุที่โจทก์มีหน้าที่ส่งให้จำเลยด้วย ที่โจทก์ส่งล่าช้าเลยกำหนด 50 วันตามที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นจึงเป็นความผิดของโจทก์อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นว่าตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวโจทก์จะอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะจำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด 50 วัน ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาหาได้ไม่ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทิ้งงานไปนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์จำเลยเกิดโต้เถียงกันในเรื่องค่าจ้างเหมาก่อสร้าง แล้วโจทก์ได้ห้ามจำเลยไม่ให้ทำการก่อสร้างต่อโดยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจจำเลยจึงทำการก่อสร้างต่อไปไม่ได้ ดังนี้โจทก์จะอ้างว่า จำเลยทิ้งงานไปหาได้ไม่ เมื่อจำเลยมิได้ผิดสัญญาดังโจทก์อ้างโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยและไม่มีสิทธิให้จำเลยชดใช้ค่าปรับตามสัญญา ฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

โดยที่การที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 605 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์ผู้ว่าจ้างจึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้วตามเอกสารหมาย จ.8 ดังนั้นโจทก์จึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานที่จำเลยได้ทำไปแล้วตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ปัญหาวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่าการงานที่จำเลยทำไปแล้วมีเพียงใด”ฯลฯ

“การปลูกสร้างบ้านได้แล้วเสร็จไปเป็นส่วนใหญ่ ศาลฎีกาจึงเชื่อตามที่จำเลยนำสืบว่า ถ้าจำเลยก่อสร้างจนแล้วเสร็จจะต้องใช้วัสดุก่อสร้างอีก 4,800 บาท และใช้ค่าแรงงานอีก 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 5,800 บาท ดังนั้นค่าแห่งการงานที่จำเลยได้ทำไปแล้วจึงพอคำนวณได้ว่าเป็นเงิน 93,200 บาท จำเลยรับเงินสดและวัสดุไปจากโจทก์แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 81,323 บาท 15 สตางค์ โจทก์จึงต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานที่จำเลยได้ทำไปแล้วเพียง 11,876 บาท 85 สตางค์ กับค่าจ้างตีฝ้านอกเหนือสัญญาอีก 3,750 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 15,626 บาท 85 สตางค์

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลย 15,626 บาท 85 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเงินแก่จำเลยเสร็จ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม 3 ศาลแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 3 ศาลเป็นเงิน 2,500 บาท”

Share