คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชื่อ SALWEEN INDENTING AGENCY เป็นชื่อที่ตัวโจทก์ขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพาณิชย์ เพื่อใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ และนายทะเบียนได้จดทะเบียนให้แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของชื่อนั้นโดยชอบ เมื่อเช็คที่พิพาทระบุชื่อโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ ก. เป็นแต่ผู้ทำการแทนร้านและเซ็นสัญญาในนามของร้าน ไม่ใช่ผู้มีชื่อที่ระบุในเช็ค ก. จึงไม่ใช่ผู้ทรง เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของธนาคารจำเลย จึงมีอำนาจฟ้อง
เช็คพิพาทระบุชื่อ SALWEEN INDENTING AGENCY ซึ่งเป็นชื่อโจทก์จดทะเบียนต่อนายทะเบียนพาณิชย์แล้วเป็นผู้ถือและขีดคร่อม พร้อมทั้งเขียนคำสั่งว่า ACCOUNT PAYEE ONLY คือเป็นทำนองห้ามเปลี่ยนมือ ปรากฏว่าโจทก์ถอน ก. จากการเป็นตัวแทนเสียแล้ว ก. ไม่มีอำนาจนำเช็คพิพาทเข้าบัญชีของตนได้ ถึงแม้ว่าธนาคารจำเลยเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกการเป็นตัวแทน แต่การที่ธนาคารจำเลยนำเช็คเข้าบัญชีของ ก. เท่ากับเป็นการนำเช็คของโจทก์ไปเข้าบัญชีส่วนตัวของ ก. โดยเชื่อว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นทางให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ เป็นทางปฏิบัติที่ธนาคารทั้งหลายไม่พึงกระทำ ถือว่าธนาคารจำเลยประมาทเลินเล่อ แม้ธนาคารจำเลยจะสุจริตจริง แต่เมื่อ ก. ไม่มีสิทธิในเช็ค ธนาคารจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1000

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของร้าน “แซลวิน อินเด็นติ้ง เอเย่นซี” ร้านโจทก์มีรายได้ค่านายหน้าขายกระจกให้แก่บริษัทในต่างประเทศ ๖๗๕ ปอนด์ ๓ ชิลลิง ๖ เพนนี บริษัทต่างประเทศส่งเงินนี้ให้ร้านโจทก์ผ่านธนาคารมอสโคว์ ธนาคารมอสโคว์ส่งมายังธนาคารเกษตร โจทก์ขอรับเงินจากธนาคารเกษตร ธนาคารเกษตรแจ้งว่าออกเช็คสั่งจ่ายเงินนี้โดยเช็คเลขที่ เอฟ.๗๗๖๕๖๖ ลงวันที่ ๑๗ ก.ย. ๐๖ เป็นเงินไทย ๓๘, ๙๘๑ บาท ๒๓ สตางค์ ระบุชื่อร้านโจทก์เป็นผู้รับเงินและขีดคร่อมเช็คระบุกลางเส้นที่ขีดคร่อมว่า “ACCOUNT PAYEE ONLY” แต่เช็คฉบับนี้สาขาของจำเลยเรียกเก็บเงินจากธนาคารเกษตรเรียบร้อยแล้ว ความจริงโจทก์ไม่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลย การที่จำเลยสลักหลังและเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารเกษตร จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและธรรมเนียมประเพณีธนาคาร เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ยังไม่ได้รับเงินตามเช็ค ขอให้จำเลยใช้เงินจำนวนดังกล่าวกับดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเช็ค ไม่มีสิทธิ์ในเช็ค ไม่มีอำนาจฟ้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ชื่อ แซลวินอินเด็นติ้ง เอเย่นซี SALWEEN INDENTING AGENCY เป็นชื่อที่ตัวโจทก์ได้ขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนพาณิชย์ เพื่อใช้ในการประกอบพาณิชยกิจ และนายทะเบียนได้จดทะเบียนให้แล้ว โจทก์จึงเป็นเจ้าของชื่อนั้นโดยชอบ เมื่อเช็คที่พิพาทระบุชื่อ SALWEEN INDENTING AGENCY ซึ่งเป็นชื่อที่โจทก์เป็นเจ้าของ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ นายกุลาม เอ. ฮูเซ็น เป็นแต่ผู้ทำการแทนร้านและเซ็นสัญญาในนามของร้าน ไม่ใช่ผู้มีชื่อที่ระบุไว้ในเช็ค นายกุลาม เอ. ฮูเซ็น จึงไม่ใช่ผู้ทรง เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของธนาคารจำเลย จึงมีอำนาจฟ้องธนาคารจำเลยได้
ปัญหามีว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คที่พิพาทหมาย จ.๑๔ ระบุชื่อ SALWEEN INDENTING AGENCY เป็นผู้ถือและขีดคร่อม พร้อมทั้งเขียนคำสั่งว่า ACCOUNT PAYEE ONLY คือเป็นทำนองห้ามเปลี่ยนมือ แต่การที่ธนาคารจำเลยกลับนำเอาเช็คที่พิพาทไปเข้าบัญชีของนายกุลาม เอ. ฮูเซ็น มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลย และธนาคารจำเลยเชื่อตามหนังสือมอบอำนาจที่นายกุลาม เอ. ฮูเซ็น นำมาแสดงว่านายกุลาม เอ. ฮูเซ็น เป็นตัวแทนของโจทก์ แต่โจทก์ก็นำสืบได้ว่าในระหว่างที่ธนาคารจำเลยเรียกเก็บเงินตามเช็คที่พิพาท โจทก์ได้ถอนการมอบอำนาจเสียแล้ว ฉะนั้น ในขณะนั้นนายกุลาม เอ. ฮูเซ็น จึงไม่ใช่ตัวแทนของโจทก์ ไม่มีอำนาจนำเช็คที่พิพาทเข้าบัญชีของตนได้ ถึงแม้ว่าธนาคารจำเลยจะเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ทราบเรื่องการบอกเลิกการเป็นตัวแทนของนายกุลาม เอ. ฮูเซ็น แต่การที่ธนาคารจำเลยปฏิบัติเช่นนั้น เท่ากับเป็นการนำเช็คของโจทก์ไปเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกุลาม เอ. ฮูเซ็น ซึ่งเห็นได้ว่าอาจเป็นทางให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ เป็นทางปฏิบัติที่ธนาคารทั้งหลายไม่พึงกระทำ ดังที่ปรากฏตามคำเบิกความของนายเฉลิม ยงบุญเกิด ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยพยานโจทก์ว่า แม้จะมีใบมอบอำนาจปรากฏชัดว่าให้ผู้รับมอบอำนาจนำเช็คเข้าบัญชีของผู้รับมอบอำนาจได้ กรณีตามเช็ค จ.๑๔ นี้ ผู้รับมอบอำนาจก็จะนำเช็ค จ.๑๔ เข้าบัญชีของตนไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่ธนาคารจำเลยนำเช็คซึ่งระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ถือและขีดคร่อมทั่วไปพร้อมทั้งเขียนเป็นคำสั่งว่า “ACCOUNT PAYEE ONLY” ไปเข้าบัญชีของผู้อื่น โดยเชื่อว่าเป็นตัวแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าธนาคารจำเลยประมาทเลินเล่อ แม้ธนาคารจำเลยจะสุจริตจริง แต่เมื่อปรากฏว่านายกุลาม เอ. ฮูเซ็น ไม่มีสิทธิในเช็คนั้น ธนาคารจำเลยก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น กรณีไม่เข้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐๐
พิพากษายืน.

Share