คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3994/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทเป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขายทอดตลาดไม่ชอบ จำเลยทั้งสองย่อมได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯ มาตรา 146 จะนำมาตรา 22 มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะมาตรา 22 บัญญัติให้ผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเท่านั้น คำสั่งของกรมบังคับคดี เรื่องการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานขายทรัพย์ เพื่อให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและรวดเร็วเท่านั้น ไม่ใช่เป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านได้ทำการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3446, 3448, 7088 และ 8660 ตำบลท่าทรายอำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ผู้ล้มละลายและขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532บริษัทเอชแอล ซี จำกัด เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 101,200,000บาท บริษัทโอดีซี่ จำกัด ผู้ร้องและจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องทำนองเดียวกันว่า ผู้คัดค้านทำการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวโดยไม่ได้แจ้งวันเวลาขายทอดตลาดให้จำเลยทั้งสองทราบและดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พ.ศ. 2522 หมวดที่ 8บทที่ 1 วิธีการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ และในการขายทอดตลาดได้เคาะไม้ขายให้ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 101,200,000 บาท อย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคาเพิ่มจากราคาเสนอเดิมเพียง200,000 บาท ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ว่า ราคาที่เสนอตั้งแต่80 ล้านบาทขึ้นไปต้องเสนอเพิ่มราคาไม่น้อยกว่าครั้งละ 1 ล้านบาทและเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาท้องตลาดประมาณ 28 ล้านบาท อันมีลักษณะเป็นการสมคบกับผู้ซื้อทรัพย์ ทำให้ผู้ร้องและจำเลยทั้งสองเสียหาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และให้ขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทใหม่
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินพิพาท ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้คัดค้านได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบก่อนขายทอดตลาดแล้ว ในการขายทอดตลาดนี้มีผู้เข้าสู้ราคาหลายคนและกระทำกันโดยเปิดเผยไม่มีการสมคบกันให้ผู้ซื้อทรัพย์คนใดคนหนึ่งได้รับสิทธิพิเศษ ราคาขายทรัพย์สูงกว่าราคาที่ผู้คัดค้านประเมินไว้จึงเป็นการขายที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินโฉนดที่ 3446, 3448, 7088,8660 ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาครติดต่อเป็นผืนเดียวกันเมื่อผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้เสนอราคาสูงสุด101,200,000 บาท ไม่มีผู้ใดเสนอราคาสูงกว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขานราคานับ 1 นับ 2 จำนวน 3 ครั้ง และได้รอ 2 นาที แล้วไม่มีผู้ใดเสนอราคาสูงขึ้นอีก จึงได้นับ 3 เคาะไม้ขาย การสู้ราคาตั้งแต่ระดับ 80,000,000 บาท ขึ้นไป ได้มีการเพิ่มราคาสูงขึ้นตามจำนวนราคาที่เป็นไปตามคำสั่งกรมบังคับคดี 252/2530 ผู้ร้องมิได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้เสนอราคา 101,200,000 บาท และแม้หากว่าจะมีผู้เสนอราคาดังกล่าว เมื่อไม่มีผู้ใดเพิ่มวงเงินอีก 1,000,000 บาท แต่ผู้ซื้อทรัพย์ได้เพิ่มวงเงินอีก 200,000 บาทเป็นราคาสูงสุดก็ชอบที่จะขายในราคา 101,200,000 บาท ได้ ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีที่ 252/2530 หรือระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พ.ศ. 2522 หมวดที่ 8 บทที่ 1วิธีการขายทอดตลาดมิได้ระบุห้ามไม่ให้ขายหากเพิ่มราคาสูงสุดไม่ถึง1,000,000 บาท ดังนั้น การขายทรัพย์พิพาทในราคา 101,200,000 บาทจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 509 คำสั่งและระเบียบดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว อำนาจการจัดการทรัพย์สินตกอยู่แก่ผู้คัดค้าน จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจคัดค้าน และในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทนั้นเจ้าพนักงานได้ทำการขายทอดตลาดตามปกติวิธีที่เคยปฏิบัติมา กล่าวคือเจ้าพนักงานจะขานราคาและนับ 1-2-3 ทุกครั้งที่มีผู้สู้ราคาเพิ่มขึ้นซึ่งในขณะที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา 101,200,000 บาทนั้น เป็นราคาที่สูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินมาก ไม่มีผู้เข้าสู้ราคารายใดเสนอราคาเพิ่มขึ้น จนเจ้าพนักงานขานราคาพร้อมทั้งนับสามและเคาะไม้ขายการเสนอราคาก็กระทำโดยชอบได้เริ่มเสนอราคาเพิ่มขึ้นครั้งละ200,000 บาท ตลอดมาตั้งแต่เริ่มการสู้ราคาถึงขณะที่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ และไม่มีผู้คัดค้านการเสนอราคาดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาว่า จำเลยทั้งสองมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทหรือไม่ เห็นว่าการที่ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หากการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านในการขายทอดตลาดไม่ชอบ จำเลยทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายเพราะจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อีกมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท จำเลยทั้งสองจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 จะนำ มาตรา 22 มาใช้บังคับในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะมาตรา 22 บัญญัติให้ผู้ล้มละลายไม่มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนเท่านั้น ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ในปัญหาว่า ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทชอบหรือไม่ผู้ร้องมีนายสุนทร สินสถิตย์โรจน์ เบิกความว่า ในการเสนอราคาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 2 นาที และเจ้าพนักงานที่ทำการขายทรัพย์จะขานราคาพร้อมกับนับหนึ่งและสองซ้ำกันหลายครั้งเมื่อสู้ราคากันมาถึง 80,000,000 บาท มีผู้เข้าสู้ราคาเพียง 5 ราย คือผู้ร้องผู้ซื้อทรัพย์ และอีก 3 ราย จำไม่ได้ มีผู้ร่วมประมูลรายหนึ่งให้ราคา 101,000,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาเพิ่มเป็น 101,200,000บาท พยานกำลังคิดว่าจะสู้ราคาต่อไปดีหรือไม่ และตัดสินใจจะเข้าสู้ราคาโดยจะเสนอราคา 102,000,000 บาท พยานได้ยกมือขึ้นเพื่อจะเสนอราคา เจ้าพนักงานผู้ขายได้เคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปในราคา 101,200,000 บาท พยานคิดว่าการเคาะไม้ของเจ้าพนักงานขายเร็วไปและเป็นช่วงเวลาสั้นกว่าช่วงเวลาก่อน ๆกับมีประกาศปิดไว้บริเวณขายทอดตลาดทรัพย์ว่าถ้าหากทรัพย์ราคาตั้งแต่ 80,000,000 บาท ขึ้นไป ผู้ประมูลจะต้องเพิ่มราคาอย่างน้อย1,000,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงขึ้นเพียง 200,000 บาทจึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ผู้ร้องมีนายสุนทรเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความสนับสนุน และนายสุนทรยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายผู้ซื้อทรัพย์ว่า ครั้งสุดท้ายที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา 101,200,000 บาท พยานไม่ได้ยินเจ้าพนักงานขายขานราคาและนับหนึ่งและสอง ซึ่งเจ้าพนักงานจะนับหรือไม่ พยานไม่ทราบและตอบผู้คัดค้านว่า พยานจะยกมือก่อนหรือเจ้าพนักงานขายได้เคาะไม้ขายไปก่อน พยานไม่ทราบ เป็นการแสดงให้เห็นว่านายสุนทรไม่ได้สนใจที่จะสู้ราคาต่อไป ฝ่ายผู้คัดค้านมีนายโอภาส บุญช่วย เบิกความยืนยันว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ขายทรัพย์พิพาทถูกต้องตามระเบียบของกรมบังคับคดีและก่อนผู้ซื้อทรัพย์จะซื้อได้พยานได้ขานราคาแล้ว ไม่มีผู้ให้ราคาสูงกว่า นายโอภาสเป็นเจ้าพนักงานไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดและในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้รับอนุมัติจากรองอธิบดีกรมบังคับคดีให้ขายได้ และการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทกระทำการเปิดเผยต่อหน้าผู้เข้าประมูลซื้อหลายคน ไม่มีเหตุอันสมควรเชื่อว่าเจ้าพนักงานขายจะกระทำไปโดยทุจริต พยานหลักฐานผู้ร้องมีน้ำหนักน้อยฟังได้ว่า ก่อนเจ้าพนักงานขายเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ เจ้าพนักงานขายได้นับหนึ่งและสองแล้วนำเสนอรองอธิบดีกรมบังคับคดีอนุมัติ จึงมานับสามแล้วเคาะไม้ขายให้แก่ผู้ซื้ออันเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับปัญหาว่า การประกาศของเจ้าพนักงานขายเกี่ยวกับการเพิ่มราคาในการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งของกรมบังคับคดี เรื่อง การขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นเพียงการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานขายทรัพย์เพื่อให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและรวดเร็วเท่านั้น หาใช่เป็นกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม การที่เจ้าพนักงานขายกำหนดให้ผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทซึ่งมีราคาประเมิน40,000,000 บาท เพิ่มราคาครั้งละ 200,000 บาท ก็เป็นการถูกต้องตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว ส่วนปัญหาว่าผู้คัดค้านดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทต่ำไปหรือไม่ จำเลยทั้งสองมีนางกรรณิการ์เปรื่องวิทยางกูรเบิกความว่า ราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ไปนั้นเป็นราคาที่ต่ำไป เนื่องจากที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ในทำเลดี สอบถามเจ้าของที่ดินข้างเคียง เจ้าของที่ดินข้างเคียงบอกว่าราคาสูงกว่านี้โดยบอกว่าควรจะขายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 3,000,000 บาท ที่ดินอยู่ใกล้กับชุมชนมหาชัยเมืองใหม่ เห็นว่า นางกรรณิการ์พยานจำเลยทั้งสองเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียว ไม่มีพยานอื่นหรือหลักฐานใด ๆมาสนับสนุนให้เห็นว่าราคาที่ดินใกล้เคียงกับทรัพย์พิพาทมีราคาเท่าใดประกอบกับสำนักงานวางทรัพย์กลางกรมบังคับคดี ประเมินราคาทรัพย์พิพาทไว้เพียง 40,000,000 บาทเศษ และการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทผู้ซื้อทรัพย์ประมูลซื้อได้ในราคา 101,200,000 บาท และไม่มีผู้ประมูลคนอื่นเสนอสู้ราคาสูงกว่าต่อไปอีก ราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอประมูลซื้อจึงเป็นราคาที่เหมาะสม เจ้าพนักงานขายเคาะไม้ขายทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องและจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share