คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3992/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินจำนวน 5 ไร่ ให้แก่จำเลยและจำเลยก็ทราบดีเพราะได้เซ็นชื่อเป็นผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรมด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยไปยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินนั้นปรากฏว่ามีบันทึกข้อตกลงของทายาทว่าโจทก์และจำเลยมิได้ขอรับมรดกตามพินัยกรรม แต่ขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมและมีทายาทของผู้ตายอีก 2 คนขอสละมรดกเจ้าพนักงานที่ดินจึงได้จดทะเบียนลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาท โดยมีโจทก์และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน ในกรณีเช่นนี้ถือว่าตามคำร้องขอรับมรดกและบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์จำเลยซึ่งขอรับมรดกอย่างทายาทโดยธรรมเพียง 2 คนย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งและต่างก็ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกัน จำเลยจึงต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินนา1 แปลง เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 68 ตารางวา โดยเป็นเจ้าของคนละครึ่งหนึ่งขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 84 ตารางวา

จำเลยให้การว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทเพียง 3 งาน 68 ตารางวาเท่านั้น เพราะนายเชิ้มเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมระบุแบ่งให้จำนวนดังกล่าวจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์ตามฟ้องได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้ความว่านายเชิ้มซึ่งเป็นสามีโจทก์และเป็นบิดาจำเลยจะได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยจำนวนเนื้อที่ 5 ไร่ตามที่จำเลยนำสืบก็ดี จำเลยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าผู้ตายทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่ตนโดยจำเลยได้เซ็นชื่อเป็นผู้รับทรัพย์ในพินัยกรรมด้วยแต่เมื่อโจทก์และจำเลยไปยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินนั้น ปรากฏว่ามีบันทึกข้อตกลงของทายาทว่า โจทก์และจำเลยมิได้ขอรับมรดกตามพินัยกรรมแต่ขอรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมและมีทายาทของนายเชิ้มอีก 2 คน คือนายไพรและนายสุดตาซึ่งเป็นบุตรได้ขอสละมรดก เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหล่มสักคือนายคงคา สมานไทย จึงได้จดทะเบียนลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทโดยมีโจทก์และจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกัน ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าตามคำร้องขอรับมรดกและบันทึกข้อตกลงนั้น โจทก์จำเลยไม่ถือว่าจะต้องแบ่งทรัพย์กันตามพินัยกรรม แต่ตกลงแบ่งกันตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไป ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 โจทก์จำเลยซึ่งขอรับมรดกอย่างทายาทโดยธรรมเพียง 2 คนย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทคนละครึ่งหนึ่งและต่างก็ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันและแทนกัน จำเลยจึงต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share