แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินขายโจทก์ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งไว้จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1 เอาที่ดินแปลงที่ขายให้โจทก์ไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินไว้โดยทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 จัดสรรขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว ซึ่งเป็นการรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจำนองดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237
ก่อนครบหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการจำนอง ได้มีคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 และให้ตกเป็นของรัฐแต่ให้โจทก์มีสิทธิยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่แสดงสิทธิในที่ดินของโจทก์ได้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นเอกสารแสดงสิทธิของโจทก์แล้ว ย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จัดสรรที่ดินขายที่ถนนงามวงศ์วาน ร้อยตรีประพันธ์ตกลงซื้อจากจำเลยที่ 1 หนึ่งแปลงเนื้อที่ 200 ตารางวา และได้ผ่อนชำระเงินให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วบางส่วน ต่อมาโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากร้อยตรีประพันโดยชำระราคาที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ปลูกบ้านหนึ่งหลังในที่ดินแปลงนี้ ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินแปลงที่จัดสรรออกเป็น 17 โฉนด แปลงที่โจทก์ซื้อคือโฉนดที่ 27860 แต่จำเลยทั้งสองได้สมคบกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เอาที่ดินโฉนดที่ 27860 จำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เกินกว่าราคาจริงมาก จำเลยที่ 2 รู้หรือควรรู้ว่าจำเลยที่ 1 จัดสรรขายให้แก่บุคคลอื่นไปแล้ว ขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดที่ 27860 ระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 รับเงินที่ยังมิได้ชำระแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า รับจำนองที่พิพาทไว้โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต กับได้จดทะเบียนจำนองไว้โดยสุจริต จึงขอให้เพิกถอนมิได้ และคดีขาดอายุความเพราะเกิน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 1 รับเงินที่ค้างชำระและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องในส่วนที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนรับจำนองจำเลยที่ 2 ได้ไปดูที่ดินและเห็นบ้านของโจทก์กับบ้านของผู้อื่นปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 จัดสรรขาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้ว และวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินทั้ง 13 โฉนดก่อนรับจำนอง เห็นบ้านของโจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 27860 และเห็นบ้านของนายชุบปลูกอยู่ในที่ดินโฉนดที่ 27859 กับเห็นบ้านอื่น ๆ ที่ปลูกอยู่ในที่ดินแปลงอื่น จำเลยที่ 2 ย่อมทราบทันทีว่าที่ดินแปลงที่มีบ้านปลูกอยู่นั้นจำเลยที่ 1 จัดสรรขายให้แก่บุคคลอื่นแล้ว การที่จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินโฉนดที่ 27860 กับที่ดินแปลงอื่นที่มีบ้านปลูกอยู่ โดยจำเลยที่ 2 ทราบแล้วว่าจำเลยที่ 1 จัดสรรขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว จะเป็นทางให้บุคคลผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจากจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดที่ 27860 ต่อจากร้อยตรีประพันธ์โดยความยินยอมของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขาย เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์เอาที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบและจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้โดยรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้นด้วย โจทก์ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดที่ 27860 ระหว่างจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาที่ว่าโจทก์อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนหรือไม่
ปัญหาเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 240 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นับจากวันที่โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 1 เอาที่ดินโฉนดที่ 27860 ไปจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยทราบเมื่อปลายพ.ศ. 2514 ถึงวันที่คณะปฏิวัติมีคำสั่งที่ 42/2515 ยังไม่พ้น 1 ปี การที่คณะปฏิวัติมีคำสั่งดังกล่าวให้ที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดของจำเลยที่ 1 กับพวกตกเป็นของรัฐ และให้กระทรวงมหาดไทยตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งมีอำนาจตกลงกับผู้มีสิทธิเรียกร้องจากรัฐเกี่ยวกับที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อมากระทรวงมหาดไทยออกประกาศแจ้งให้ผู้มีสิทธิภาระผูกพันกับที่ดินของจำเลยที่ 1 กับพวก นำหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินอันมีชื่อจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์พร้อมด้วยเอกสารอื่นอันเป็นหลักฐานว่าที่ดินนั้นมีภาระผูกพันยื่นต่อกรมที่ดินภายใน 30 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไปนั้นทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองและฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดที่ 27860 ให้แก่โจทก์ต่อศาล โจทก์คงมีสิทธิเพียงยื่นเรื่องราวขอแจ้งสิทธิอันเป็นภาระผูกพันเกี่ยวกับที่ดินโฉนดที่ 27860 ของจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งเสนอหลักฐานอันแสดงว่าที่ดินดังกล่าวมีภาระผูกพันต่อกรมที่ดินเท่านั้น เมื่อโจทก์ยื่นเรื่องราวขอแจ้งสิทธิอันเป็นภาระผูกพันเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวพร้อมทั้งเสนอหลักฐานอันแสดงว่าที่ดินมีภาระผูกพันต่อกรมที่ดินภายในระยะเวลาที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดแล้ว ย่อมถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ทำการอื่นใดอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น