แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าว่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 5 หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนภายในกำหนด สัญญานี้เป็นอันยกเลิกโดยปริยายทันที เมื่อปรากฏว่าถึงกำหนดชำระงานที่จำเลยที่ 1 ทำให้แก่จำเลยที่ 5 ชำรุดบกพร่อง ต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้ชำระเงินในวันที่ครบกำหนดตามใบวางบิล จึงถือว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงถูกยกเลิกไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 5 และเมื่อภายหลังจำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานแล้ว จำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายดังกล่าว มิได้เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 268,817 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 251,553.63 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 268,817 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 251,553.63 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 กรกฎาคม 2557) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า วันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับชำระเงินค่าว่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม วันที่ 12 กันยายน 2556 โจทก์และจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินตามใบแจ้งหนี้ jws 13-0049 แก่จำเลยที่ 5 จำเลยที่ 1 วางบิลใบแจ้งหนี้ Jws 13-0049 จำนวนเงิน 338,588.13 บาท จำเลยที่ 5 ออกใบรับวางบิลเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ครบกำหนดชำระวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ปรากฏว่างานที่จำเลยที่ 1 ทำให้แก่จำเลยที่ 5 ชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 5 แจ้งให้จำเลยที่ 1 แก้ไขและยกเลิกใบรับวางบิลดังกล่าว จำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องแล้ว จำเลยที่ 5 ตรวจรับมอบงานแล้วออกใบรับวางบิลเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2556 กำหนดชำระวันที่ 17 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2557 จำเลยที่ 5 ชำระเงิน 338,588.13 บาท แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระเงินโจทก์ 87,034.50 บาท ค้างชำระ 251,553.63 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 268,817 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 251,553.63 บาท โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่โจทก์อนุมัติวงเงินรับซื้อลูกหนี้การค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาท ข้อความในสัญญาข้อ 11 ว่า จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ที่ค้างเพื่อขอให้เป็นผู้รับชำระเงินเอง หากจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืน ก็จะมีผลทำให้สัญญาทุกสัญญาเป็นอันเลิกกันทันทีโดยปริยาย หมายถึง ผู้รับโอนยกเลิกการอนุมัติวงเงิน ไม่ได้หมายความถึงยกเลิกสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง การยกเลิกสัญญาจึงเป็นเพียงยกเลิกอนุมัติวงเงินตามสัญญารับซื้อลูกหนี้การค้า มิได้ยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องที่ทำขึ้นสมบูรณ์แล้ว และไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 ได้รับหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว จึงต้องชำระหนี้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 รับเงินจากจำเลยที่ 5 เป็นการผิดสัญญาและทำละเมิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ผู้โอนตกลงให้โจทก์ผู้รับโอนเป็นผู้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 5 เพื่อหักชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ ทั้งตามสัญญาข้อ 12 วรรคหนึ่ง ระบุความว่า สัญญานี้จะยกเลิกกันโดยปริยายทันที เมื่อ 1. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่ผู้รับโอนเมื่อครบกำหนด… ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 ลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 มิได้ชำระเงินในวันที่ 11 ตุลาคม 2556 ตามใบรับวางบิล อันเป็นวันครบกำหนด สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องจึงถูกยกเลิกไปตามข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาก็รับกันในคำฟ้องและคำให้การว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายตามข้อ 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งผลของการยกเลิกสัญญาดังกล่าวตามความในข้อ 12 วรรคสอง ระบุความว่า ให้หนี้คงค้างทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ครบกำหนดชำระ และจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้คงค้างทุกสัญญาและค่าเสียหายแก่โจทก์ อันหมายถึงหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่จำเลยที่ 1 โอนแก่โจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง กำหนดให้โจทก์บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 5 มิได้ชำระเงินในวันครบกำหนด ดังนี้ เมื่อสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินทั้งหมด การที่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานแล้วจำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายดังกล่าวมิใช่เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาเหตุผลอื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ